กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจสังเกตได้ยาก เพราะเด็กไม่สามารถสื่อสารหรือบอกอาการได้อย่างถูกต้อง ผู้ปกครองจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับอาการ ความเสี่ยง การรักษา และการป้องกันภาวะนี้ไว้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างถูกต้อง
กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กมีสาเหตุมาจากอะไร ?
กระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เกิดขึ้นในวัยใดก็ตามมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในระบบลำไส้ ปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะมีกลไกในการกำจัดเชื้อดังกล่าวออกมาทางปัสสาวะ แต่บางครั้งร่างกายของเด็กก็ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากนิสัยการเข้าห้องน้ำของเด็กที่ใช้กระดาษชำระเช็ดขึ้นจากทวารหนักมาที่อวัยวะเพศ หรือในเด็กทารกที่ยังใช้ผ้าอ้อม และอุจจาระซึมเปื้อนบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เสี่ยงมีเชื้อโรคตกค้างบริเวณทวารหนักโดยเข้าไปในท่อปัสสาวะและเกิดการติดเชื้อ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก มีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง ?
กระเพาะปัสสาวะอักเสบมักพบได้ในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ใกล้ทวารหนักมากกว่า จึงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย และเด็กบางรายอาจเสี่ยงเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเนื่องจากมีปัญหาจากภาวะต่อไปนี้
- อาการท้องผูกในเด็กที่อาจส่งผลให้ลำไส้ใหญ่บวมจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงไม่สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
- ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับไปที่ท่อไตจนเกิดการติดเชื้อขึ้นบ่อยครั้ง
- ภาวะความผิดปกติในการขับถ่ายทำให้เด็กกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ
นอกจากนี้ การใช้ห้องน้ำที่ไม่สะอาด มีสุขอนามัยไม่ดี หรือหากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เด็กอาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กสังเกตอาการได้อย่างไร ?
เด็กที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจไม่สามารถอธิบายอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ปกครองควรคอยสังเกตอาการของเด็กอยู่เสมอ อาการผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงภาวะดังกล่าว มีดังนี้
ทารกและเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะมีเพียงอาการไข้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ผู้ปกครองไม่ทราบว่าเด็กเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ในบางกรณีอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ร้องไห้หรือมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ ขณะปัสสาวะ เนื่องจากเด็กรู้สึกเจ็บปวด
- งอแงหรือหงุดหงิดผิดปกติ
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร
- ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ มีสีขุ่น หรือมีเลือดปน
- อาเจียน หรือท้องเสีย
เด็กโต อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบของเด็กในวัยนี้จะสังเกตได้ง่ายยิ่งขึ้น อาการที่มักพบได้ คือ
- รู้สึกเจ็บหรือปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยหรือมีการกลั้นปัสสาวะ
- มีพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำผิดปกติ เช่น ปัสสาวะราด ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น
- มีอาการปวดท้องหรือปวดหลังส่วนล่าง
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีสีขุ่น หรือมีเลือดปน
หากเด็กมีอาการข้างต้นควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นจึงให้ตรวจปัสสาวะ ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างปัสสาวะของเด็กนั้นทำได้ยากกว่าการเก็บปัสสาวะของผู้ใหญ่ หากเป็นเด็กเล็กที่ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างเองไม่ได้ แพทย์จะใช้วิธีติดถุงครอบปัสสาวะเพื่อให้เด็กปัสสาวะใส่ถุง
สำหรับเด็กที่โตพอจะปัสสาวะเองได้ แพทย์จะเก็บปัสสาวะโดยให้เด็กปัสสาวะใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่อาจต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือ เมื่อได้ตัวอย่างปัสสาวะแล้วจึงนำไปตรวจด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาการติดเชื้อและยืนยันผลการวินิจฉัยต่อไป
กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กรักษาอย่างไร ?
แพทย์จะรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก โดยมักให้รับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 3-10 วัน ในกรณีที่เป็นเด็กโต ซึ่งระยะเวลาในการใช้ยานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ส่วนเด็กเล็กที่กินหรือดื่มนมไม่ได้ และมีอาการซึม แพทย์จะแนะนำให้เด็กเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถรับประทานยาเองได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาพาราเซตามอลสำหรับลดไข้และบรรเทาอาการเจ็บปวดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ระหว่างนี้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยขับแบคทีเรียออกจากท่อปัสสาวะและทำให้หายเร็วขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กมีอะไรบ้าง ?
เด็กที่ได้รับการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบอย่างทันท่วงทีสามารถหายดีได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนตามมาภายหลัง อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีภาวะนี้อาจส่งผลให้ไตเกิดความเสียหายหรือมีความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้น แพทย์อาจแนะนำให้เด็กเข้ารับการตรวจและเฝ้าระวังอาการเป็นระยะตามความเหมาะสม แม้ว่าจะรักษาจนหายดีแล้ว โดยควรตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้ไม่บ่อยนัก
ทั้งนี้ หากเด็กมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบติดต่อกันบ่อยครั้ง ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติเกี่ยวกับไต ท่อไต หรือโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหากตรวจพบเร็วก็จะช่วยให้รักษาได้อย่างทันท่วงที
การป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก
กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กป้องกันได้ด้วยการดูแลและเอาใจสุขอนามัยของเด็กให้มากขึ้น หากเป็นทารกและเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการหมักหมมและการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ หากเด็กอยู่ในวัยเริ่มเข้าห้องน้ำได้เองแล้ว ควรสอนเรื่องการรักษาสุขอนามัยให้มากขึ้น เช่น สอนให้เช็ดทำความสะอาดจากอวัยวะเพศไปทางทวารหนัก สอนให้ล้างมือหลังทำธุระในห้องน้ำทุกครั้ง เป็นต้น ส่วนเด็กในวัยเรียนควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายต่อผิว และควรให้เด็กสวมใส่กางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายเพื่อช่วยให้ระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย