กลิ่นตัวแรงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะนอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และทำให้สูญเสียความมั่นใจแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการกลิ่นตัวแรงมีอยู่หลายวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ และสามารถช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลิ่นตัวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยส่วนใหญ่เกิดจากการรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดแบคทีเรียสะสมปะปนกับเหงื่อบนผิวหนังจนเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา นอกจากนี้ ฮอร์โมน อาหารที่รับประทาน รวมถึงโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน ก็สามารถส่งผลให้มีกลิ่นตัวแรงได้เช่นกัน
เช็กสาเหตุที่อาจทำให้คุณมีกลิ่นตัวแรง
ผู้ที่มีกลิ่นตัวแรงอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ลักษณะร่างกายที่ทำให้มีกลิ่นตัวแรง
ลักษณะของร่างกายที่มีมาแต่กำเนิดบางอย่างอาจเป็นสาเหตุให้คุณมีกลิ่นตัวแรง เช่น ผู้ที่เป็นเพศชาย เพราะจะมีเส้นผมหรือเส้นขนจำนวนมากบนผิวหนัง ทำให้มีต่อมเหงื่อที่ชื่อว่าต่อมอะโพไครน์จำนวนมาก และอาจส่งผลให้มีกลิ่นตัวแรงได้ รวมถึงเพศหญิงบางคนก็สามารถมีกลิ่นตัวแรงได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีกลิ่นตัวแรงบางคนอาจเกิดจากพันธุกรรม
2. การรักษาความสะอาดส่วนบุคคล
การรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าที่สวมใส่ เป็นปัจจัยหลักสามารถทำให้เกิดกลิ่นตัวได้ เพราะหากร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้นและเกิดเหงื่อได้ง่ายอย่างรักแร้ ขาหนีบ และเส้นผม รวมถึงเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่สวมใส่ไม่สะอาด มีการสะสมของแบคทีเรียและเหงื่อ ก็จะทำให้เกิดกลิ่นตัวที่รุนแรงตามมา
นอกจากนี้ การละเลยความสะอาดของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เช่น ภายในบ้าน ห้องนอน เตียงนอน ผ้าปูที่นอน หรือผ้าห่ม ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวได้เช่นกัน
3. การรับประทานอาหารบางชนิด
กลิ่นตัวที่รุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม เครื่องเทศต่าง ๆ อาหารรสเผ็ด ผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะชีส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะหากรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมากหรือรับประทานเป็นประจำ กลิ่นจะถูกขับออกมาทางเหงื่อและเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ตามมา
4. ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่เหมาะสม สามารถทำให้เกิดกลิ่นตัวได้ ซึ่งปัจจัยที่มักทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนอย่างรุนแรง ได้แก่ การเข้าสู่วัยรุ่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ รวมถึงการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองด้วย
5. โรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง
ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง อาจมีกลิ่นตัวแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ รวมถึงผู้ที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติด้วย นอกจากนี้ ความเครียด การติดเชื้อในร่างกาย รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางอย่าง ก็อาจทำให้เหงื่อออกมากผิดปกติ และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวด้วย
สารพัดวิธีลดอาการกลิ่นตัวแรงให้อยู่หมัด
ผู้ที่มีกลิ่นตัวแรงควรทำตามวิธีการต่อไปนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น และอาจช่วยให้อาการกลิ่นตัวแรงดีขึ้นได้
- รักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง และถูสบู่ให้ทั่วร่างกาย โดยควรเน้นทำความสะอาดบริเวณที่มีการหมักหมมของเหงื่อได้ง่าย เช่น รักแร้ หรือขาหนีบ
- สระผมเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก รวมถึงควรกำจัดขนบริเวณรักแร้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการสะสมของเหงื่อและแบคทีเรีย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมและสามารถระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย และควรสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ
- สวมใส่เสื้อผ้าและชุดชั้นในที่สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงเครื่องนอนต่าง ๆ ก็ควรซักให้สะอาดเป็นประจำด้วย
- ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใต้วงแขน เพื่อช่วยลดหรือป้องกันไม่ให้เหงื่อออกขณะทำกิจกรรมในระหว่างวัน และสามารถช่วยลดกลิ่นตัวได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดกลิ่นตัวตามมา เช่น อาหารที่มีเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก
- จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยรักษาระดับของฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ
ทั้งนี้ หากมีกลิ่นตัวแรงมากเกินไปหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ เหงื่อออกขณะนอนหลับ มีการติดเชื้อที่ผิวหนังบ่อยครั้ง รวมถึงกลิ่นตัวมีกลิ่นที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษา โดยการรักษาปัญหากลิ่นตัวแรงทางการแพทย์ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย หรือการฉีดโบทอกซ์บริเวณต่อมเหงื่อที่รักแร้