กล่อมลูกน้อยอย่างไรให้นอนหลับ

การนอนเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของลูกน้อยให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีระยะเวลาในการนอนที่แตกต่างกันออกไป อาจใช้เวลาในการนอนนานถึง 16-18 ชั่วโมงต่อวัน เด็กบางคนจะตื่นทุก ๆ 20 นาที หรือทุก ๆ 3 ชั่วโมง และจะไม่นอนหลับสนิทตลอดทั้งคืนจนกว่าจะอายุ 6 เดือน หรือบางคนอาจนานถึง 1 ปี หากทารกนอนตอนกลางวันมากเกินไปหรือนอนไม่เพียงพอ อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยมากและส่งผลให้นอนหลับตอนกลางคืนได้ยากขึ้น ซึ่งการกล่อมลูกมีหลากหลายวิธี อาจต้องใช้เวลาในการค้นหาหรือทดลองจนกว่าจะเจอวิธีที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่อาจลองปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

กล่อมลูก

เตรียมตัวให้เจ้าตัวน้อย รู้สึกผ่อนคลายสบายตัวและพร้อมเข้านอน

  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ตรงเวลา เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ การป้อนนม หรือเวลาเข้านอน จะช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้ง่ายและไวขึ้น
  • อาบน้ำอุ่นพร้อมสัมผัสอันอ่อนนุ่มด้วยรักจากแม่ รวมถึงลดการทำกิจกรรมที่ตื่นเต้นและผาดโผน และลดใช้เสียงลงในระหว่างการอาบน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
  • ห่อตัวลูกน้อยด้วยผ้าอ้อมที่บางเบาและอ่อนนุ่ม หากทารกถึงวัยที่ขยับ พลิก หรือตะแคงตัวได้ โดยปกติจะคือช่วงอายุประมาณ 4 เดือน อาจไม่จำเป็นต้องห่อตัวแล้ว เนื่องจากหากแขนและขาถูกห่อไว้ แล้วทารกคว่ำหน้าลงบนวัสดุรองนอน จะไม่สามารถพลิกตัวกลับมานอนหงายได้ อาจทำให้ขาดอากาศหายใจ และเสี่ยงต่อการไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome: SIDS)  หรือในทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจใช้วิธี Kangaroo Care โดยอุ้มทารกแบบเนื้อแนบเนื้อแล้วห่อหุ้มคุณพ่อหรือแม่และลูกน้อยด้วยผ้าห่ม จะช่วยเพิ่มความอุ่นสบายและสัมผัสที่คล้ายกับตอนที่อยู่ในครรภ์มารดา
  • เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม ไม่รัดหรือแน่นจนเกินไป อาจเลี่ยงหรือระมัดระวังในการเลือกชุดที่ทำจากผ้าใยสังเคราะห์เพราะอาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว เกิดการระคายเคือง และเป็นอุปสรรคต่อการนอน ควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย จะสามารถช่วยลดการระคายเคืองต่อผิวทารก
  • สัมผัสอย่างนุ่มนวลที่บริเวณหน้าท้อง แขน ศีรษะ หรืออาจเป็นการกอด หรือจูบ เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายและความรู้สึกที่ปลอดภัย รวมถึงการนวดอย่างเบามือประมาณ 15 นาทีก่อนเข้านอน จะสามารถช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้เร็วและสบายมากขึ้น

จัดเตรียมบรรยากาศการนอน เพื่อช่วยให้เจ้าตัวน้อยผ่อนคลายและหลับสบายยิ่งขึ้น

  • อาจใช้กลิ่นหอมช่วยสร้างบรรยากาศ เพียง 1-2 หยดของน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ หยดลงบนทิชชู่แล้ววางไว้บนที่นอนจะอาจช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำหอมหรือกลิ่นต่าง ๆ กับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน และหลีกเลี่ยงบรรยากาศที่มีกลิ่นบุหรี่ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หู การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ หืดจับขั้นรุนแรง และโรคไหลตายในทารก
  • อุณหภูมิที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในห้องที่มีอากาศไม่ร้อนหรือไม่หนาวจนเกินไป
  • ปิดไฟ หรี่ไฟลง หรือใช้ผ้าม่านบังแสง เพื่อให้ทารกเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับบรรยากาศของการนอน รวมถึงเปิดไฟเมื่อทารกตื่นขึ้น เพื่อให้เห็นและเรียนรู้ถึงความแตกต่างของการนอนและการตื่นนอน
  • เก็บเตียงหรือบริเวณที่นอนให้โล่ง ที่สำคัญควรเก็บของเล่นออกจากที่นอน เพราะอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ทารกตื่นและไม่ยอมนอน หรืออาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจได้

ถึงเวลาเข้านอน

  • เล่านิทานหรือร้องเพลงกล่อมก่อนนอน โดยเป็นจังหวะซ้ำ ๆ และเบาสบายจะช่วยทำให้ลูกน้อยสงบผ่อนคลาย และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการใช้เสียง White Noise เช่น เสียงไดร์เป่าผม เสียงพัดลม เสียงฝนตก เสียงคลื่น หรือเสียงการเต้นของหัวใจ ซึ่งเป็นเสียงแบบราบเรียบ สม่ำเสมอ จะช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงกริ่ง หรือเสียงการสนทนา เป็นต้น และช่วยสร้างบรรยากาศการนอนที่ดีให้กับทารก
  • จุกนมนุ่มช่วยได้ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (AAP) แนะนำว่าการให้ลูกน้อยดูดจุกนมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในทารกได้ ควรหมั่นทำความสะอาดจุกนมเป็นประจำ ไม่ควรบังคับหรือใช้น้ำหวานทาที่จุกนม และเด็กส่วนใหญ่จะเลิกใช้จุกนมเมื่อมีอายุประมาณ 7 เดือน
  • ให้ลูกน้อยนอนในท่าหงาย แผ่นหลังสัมผัสกับที่นอนราบ ไม่ควรสวมหมวกหรือใช้ผ้าปิดบังใบหน้าและศีรษะในขณะนอนหลับ อาจจะอุ้มลูกน้อยในอ้อมแขนและโยกตัวไปมาเบา ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ หรืออาจใช้เปลไกวเพื่อให้ลูกน้อยได้ผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้มและหลับไป
  • หลีกเลี่ยงการมองหรือจ้องตากันเมื่อจะส่งลูกน้อยเข้านอน การจ้องตาหรือหยอกล้อ จะเป็นการกระตุ้นหรือทำให้ลูกน้อยตื่นเต้นแทนการง่วงนอน
  • ป้อนนมแบบ Dreamfed เมื่อทารกหลับไปแล้ว โดยอาจจะป้อนในช่วงเวลาประมาณ 22.00-24.00 นาฬิกา เพื่อป้องกันการหิวและตื่นมากลางดึก ซึ่งทำให้ขัดจังหวะการนอนของทารกและคุณแม่