กานพลู สมุนไพรต้านโรค มีประโยชน์ต่อช่องปาก

กานพลูเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี มีประโยชน์ทั้งส่วนดอก ลำต้น และน้ำมัน ซึ่งอาจนำมาใช้รักษาทางทัตกรรม ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันมะเร็ง อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องเทศช่วยเพิ่มรสเผ็ดให้กับอาหารคาวหวาน และเป็นส่วนประกอบในยาสีฟัน สบู่ น้ำหอม เครื่องสำอาง และบุหรี่ด้วย

กานพลูในปริมาณ 2 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 21 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมีทั้งใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี แร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงในน้ำมันกานพลูยังมีสารยูจีนอล (Eugenol) เป็นสารประกอบหลักที่เชื่อว่าช่วยลดอาการปวดและการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ในหมู่คนทำอาหารอาจใช้กานพลูทั้งต้น หรือในแบบผงบดละเอียด เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารและเติมสารอาหารที่สำคัญในแต่ละมื้อ 

กานพลู

คุณประโยชน์ของกานพลู

หลายคนเชื่อกันว่ากานพลูเป็นของดีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอยู่มาก ทำให้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงสรรพคุณในด้านต่าง ๆ ของกานพลู ดังนี้

ต่อต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบหรือจากการรับประทานอาหาร ซึ่งหากสารนี้มีความเข้มข้นสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ภาวะการอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคทางระบบประสาท โรคหัวใจ เป็นต้น แต่การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยลดปริมาณอนุมูลอิสระในร่างกายได้ โดยจากการค้นคว้าวิจัยพบว่า กานพลูสามารถใช้ในการถนอมอาหารและเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติ จึงอนุมานได้ว่ากานพลูอาจช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องขยายผลการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อช่วยยืนยันประสิทธิภาพในด้านนี้ให้มากขึ้น   

ป้องกันโรคมะเร็ง

มะเร็งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเนื้อร้าย ซึ่งอาจลุกลามไปยังอวัยวะโดยรอบและนำไปสู่การเสียชีวิต ปัญหานี้ทำให้มีการศึกษาสรรพคุณของกานพลูต่อโรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งเผยว่า สารสกัดจากกานพลูอาจนำไปพัฒนาเป็นสารต้านมะเร็งและนำไปใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้ ในทำนองเดียวกัน การศึกษาอีกชิ้นที่ทดลองเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองและในสัตว์ก็เผยให้เห็นว่า สารสกัดจากกานพลูมีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง จึงอาจนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ การนำกานพลูมาใช้ในการรักษาโรคจึงควรรองานวิจัยที่ทดลองกับคนในระยะยาว

ดูแลสุขภาพช่องปาก

สุขภาพช่องปากและฟันเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนส่วนใส่ใจอยู่เสมอ เพราะสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดฟันผุ โรคเหงือก โรคปริทันต์ และอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน โดยปัจจุบันมีการนำสมุนไพรใกล้ตัวอย่างกานพลูมาใช้ประโยชน์ด้านการดูแลช่องปากมากขึ้น จึงมีการทดลองที่ศึกษาประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกานพลูในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะหรือลำคอ ผลปรากฏว่า น้ำยาบ้วนปากชนิดนี้อาจช่วยลดหรือป้องกันภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบที่เกิดจากการรักษาด้วยรังสีได้ อีกทั้งงานวิจัยในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ จำนวน 40 คน ยังแสดงให้เห็นอีกว่า น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของทีทรีออยล์ กานพลู และใบโหระพามีคุณสมบัติต้านการสะสมของคราบแบคทีเรียบนฟัน ต้านอาการเหงือกอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงอาจนำมาใช้เสริมการป้องกันและรักษาโรคปริทันต์ในอนาคต ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงควรมีงานวิจัยในกลุ่มใหญ่ต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดยิ่งขึ้น

นอกจากสรรพคุณข้างต้น กานพลูยังอาจช่วยรักษาการหลั่งเร็ว บำรุงตับ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการปวดฟัน ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกหรือสร้างกระดูก เนื่องจากกานพลูอุดมไปด้วยแมงกานีสที่มีส่วนช่วยในด้านนี้ แต่ความเชื่อเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพ ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสม

กานพลูกับความปลอดภัยต่อสุขภาพ

โดยทั่วไป การรับประทานกานพลูค่อนข้างจะปลอดภัยหากบริโภคในปริมาณที่อยู่ในอาหารแต่ละมื้อ แต่ผู้ที่ต้องการรับประทานกานพลูในปริมาณมากเพื่อรักษาโรคอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพราะยังไม่มีข้อสนับสนุนเพียงพอต่อการรับรองความปลอดภัยในด้านนี้ ส่วนการใช้กานพลูในรูปแบบน้ำมันหรือครีมอาจปลอดภัยเมื่อทาผิวหนังโดยตรง แต่การทาน้ำมันกานพลูในช่องปากอาจไปทำลายเหงือก เนื้อเยื่อในฟัน และเยื่อเมือกบุผิวในช่องปากได้ สำหรับการสูบควันที่มีส่วนผสมของกานพลูหรือการฉีดน้ำมันกานพลูเข้าสู่เส้นเลือดนั้นอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ทำให้มีปัญหาในการหายใจและโรคปอด   

การใช้กานพลูเป็นสารแต่งกลิ่นในอาหารถือว่าปลอดภัยสำหรับคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าการใช้กานพลูเป็นยารักษาโรคจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และสามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาหรือไม่ สตรีมีครรภ์จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอและไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากกานพลูโดยไม่ผ่านการพิจารณาจากแพทย์โดยตรง นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการใช้น้ำมันกานพลูทาที่ผิวหนังหรือรับประทานกานพลูแต่มีประวัติทางการแพทย์ดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมและความปลอดภัยก่อนการใช้งาน

  • โรคเกี่ยวกับตับ
  • มีเลือดออกหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติอย่างโรคฮีโมฟีเลีย
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • แพ้อาหารหรือพืชบางชนิด

ข้อควรระวังในการใช้กานพลู

เพื่อความปลอดภัยในการใช้กานพลู ผู้ใช้ควรคำนึงถึงข้อพึงระวังต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในภายหลัง เช่น

  1. ผู้ที่แพ้กานพลูห้ามใช้หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของกานพลูทั้งสิ้น 
  2. ห้ามให้เด็กใช้กานพลูโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากน้ำมันกานพลูอาจไปทำลายตับ ก่อให้เกิดอาการชัก และเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงแก่เด็กได้
  3. ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กานพลูในรูปแบบผง เม็ด น้ำ น้ำมัน สารสกัด ชา หรือรูปแบบอื่นพร้อมกัน เพราะอาจเสี่ยงต่อการใช้ยาเกินขนาด
  4. หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการรักษาทางทันตกรรม ควรหยุดใช้กานพลูล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะกานพลูอาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดและเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้น
  5. ผู้ชายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกานพลูเพื่อช่วยลดการหลั่งเร็ว ควรทาเฉพาะผิวหนังด้านนอกบริเวณปลายอวัยวะเพศชายก่อนทำกิจกรรมทางเพศ 1 ชั่วโมง และควรล้างทำความสะอาดก่อนเริ่มกิจกรรมทุกครั้ง

สุดท้ายนี้ กานพลูจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และผู้ใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานหรือใช้ทาผิวหนัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและหญิงตั้งครรภ์ หากใช้ผลิตภัณฑ์จากกานพลูแล้วเกิดผลข้างเคียงหรือพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง