โรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนในครอบครัว เพราะการที่ต้องทนอยู่กับความเจ็บป่วยเป็นเวลานานอาจทำให้สุขภาพโดยรวมแย่ลง และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตด้านต่าง ๆ อีกด้วย แต่ในเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ คือ ดูแลสุขภาพตนเอง และหาทางอยู่ร่วมกับโรคเรื้อรังอย่างปลอดภัยและมีความสุขที่สุด
โรคเรื้อรังเป็นอย่างไร ?
โรคเรื้อรังนั้นมีหลายลักษณะและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดขึ้นในร่างกายเป็นเวลานานกว่าจะแสดงอาการ และอาจทำให้อวัยวะบางส่วนในร่างกายเกิดปัญหาหรือใช้งานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งโรคเรื้อรังบางชนิดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ
โดยตัวอย่างของโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย คือ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ
โรคเรื้อรังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร ?
เมื่อเป็นโรคเรื้อรัง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกับการเจ็บป่วยธรรมดา เพราะโรคทั่วไปอย่างโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคปอดบวมนั้น เมื่อเป็นแล้วไม่นานผู้ป่วยก็จะหายจากโรคดังกล่าว แต่โรคเรื้อรังมักต้องใช้เวลานานกว่าจะควบคุมอาการได้ อีกทั้งบางโรคยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อด้านอื่น ๆ ในชีวิตอีกด้วย
โดยผลกระทบแต่ละด้านที่อาจเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง มีดังนี้
ผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิต
โรคเรื้อรังบางชนิดอย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถยกของหนัก เคลื่อนไหวร่างกาย และหยิบจับสิ่งของได้สะดวก หรือโรคเบาหวานก็ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมปริมาณการบริโภคน้ำตาล และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอีกมากมาย เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น
ผลกระทบทางการเงิน
กระบวนการรักษาบางขั้นตอนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางคนได้ เช่น การฉายรังสีและการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง หรือการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหัวใจ เป็นต้น
ผลกระทบต่อครอบครัว
ผู้ป่วยบางคนอาจเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้ที่หารายได้เพียงคนเดียวในครอบครัว ดังนั้น การป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้จึงเป็นปัญหาใหญ่ และกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอย่างมาก
ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ
เมื่อเจอปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการทำงาน หรือปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียด ท้อแท้ หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต จนอาจนำไปสู่โรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าได้ หรือเมื่อผู้ป่วยรู้สึกแย่ต่อตนเองก็อาจทำให้รู้สึกแปลกแยกและปลีกตัวออกจากครอบครัว เพื่อน หรือสังคมได้ด้วย
จะอยู่ร่วมกับโรคเรื้อรังอย่างไรให้มีความสุข ?
โรคเรื้อรังบางอย่างอาจเป็นความเจ็บป่วยที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่ในเมื่อยังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป สิ่งที่ควรทำ คือ ยอมรับ ทำความเข้าใจ และหาทางที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขที่สุด ซึ่งอาจทำตามคำแนะนำวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ทำความเข้าใจโรคที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยควรศึกษาและทำความเข้าใจโรคที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด โดยอาจหาข้อมูลด้วยการสอบถามแพทย์หรือค้นหาข้อมูลตามแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ทราบรายละเอียดของโรค หาวิธีรับมือและดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่ ซึ่งอาจทำได้โดยออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มสุรา เป็นต้น
- จัดการกับอารมณ์และความคิดของตนเอง นอกจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ความเครียด ความกดดัน ความกังวล และความเศร้า ก็ล้วนเป็นอุปสรรคของการใช้ชีวิตร่วมกับโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงควรจัดการกับความคิดของตนเอง โดยพยายามเข้าใจความเป็นจริง ไม่โทษตัวเอง ลดความคาดหวังลงบ้าง หรืออาจใช้วิธีฝึกสมาธิเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและจัดการกับความคิดความรู้สึกของตนเองได้ดีขึ้น
- รับการรักษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเต็มที่ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อความต่อเนื่องของการรักษา และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์แนะนำ สอบถามแพทย์ในส่วนที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
- ให้ครอบครัวและคนรอบข้างคอยเป็นกำลังใจ การป่วยเป็นโรคเรื้อรังนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กับตนเองและสิ่งรอบข้าง จึงเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่ต้องคอยให้กำลังใจผู้ป่วย ให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ชีวิตของตนยังมีคุณค่า เพื่อให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป
- เข้ากลุ่มช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ กลุ่มช่วยเหลือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้สภาพจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้นได้ เพราะการเข้ากลุ่มช่วยเหลือจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยก และมีกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อไป หรืออาจได้แนวทางใหม่ ๆ ในการอยู่ร่วมกับโรคเรื้อรังจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่มอีกด้วย