การป้องกันไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza)
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้ดังนี้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่
มีประสิทธิภาพทางการป้องกันไวรัส แต่ไม่สามารถป้องกันครอบคลุมไวรัสได้ครบทุกสายพันธุ์ และสามารถป้องกันการป่วยจากไวรัสได้ประมาณ 50‒60% การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเริ่มส่งผลป้องกันไวรัสได้ภายหลังรับวัคซีนไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และฉีดได้ปีละครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนนี้ คือ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นเอื้อต่อการแพร่ระบาดของไวรัส หรือช่วงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของโรค
ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะและความแข็งแรงของผู้ที่รับวัคซีนและชนิดของไวรัสที่ร่างกายได้รับเชื้อเข้ามา แม้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันในแต่ละปี แต่ก็ไม่สามารถป้องกันครอบคลุมไวรัสที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปีได้ทั้งหมด
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดไวรัสได้ง่าย ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน‒2 ปี ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาตัวเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่อาศัยอยู่หรือต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลได้ทุกปีเช่นกัน หรือในช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงบ้างเล็กน้อย เช่น ผิวหนังบริเวณที่ถูกฉีดยาบวมแดงและรู้สึกเจ็บ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง และอาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2‒3 วัน แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายอาจตอบสนองต่อวัคซีนรุนแรงกว่าปกติ อย่างอาการหมดสติ
อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงกิลแลง-บาร์เร ทว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และงานวิจัยในด้านนี้ยังมีอยู่น้อยมาก จึงไม่สามารถนำผลการวิจัยมายืนยันได้อย่างแน่ชัด ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ
ยาต้านไวรัส
นอกจากจะใช้ในการรักษาแล้ว ยาต้านไวรัสยังมีผลในทางป้องกัน คือ ช่วยป้องกันการกระจายตัวของเชื้อไวรัสภายในร่างกาย และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา โดยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สามารถใช้ในทางป้องกันในผู้ที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนยาซานามิเวียร์ใช้ในทางป้องกันในผู้ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป
มีสุขอนามัยที่ดี
รักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ ใส่ใจรายละเอียดเรื่องความสะอาดปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เช่น ล้างมือถูสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ใช้ผ้าปิดปากเวลาไอหรือจาม ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเมื่อกลับจากการเดินทาง เป็นต้น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6‒8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่มีโปรตีน อย่างพวกเนื้อปลา สัตว์ปีก ไข่ ถั่ว และเมล็ดพันธุ์พืช และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างวิตามินบี 6 ที่พบได้มากในหัวมัน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าว และวิตามินบี 12 ที่พบได้มากในเนื้อสัตว์ ตับ ปลา และนม
พักผ่อนอย่างเพียงพอ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของแต่ละช่วงวัย เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะลดต่ำลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ ทั้งยังเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีได้ด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที
อย่างไรก็ตาม ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เพราะการออกกำลังอย่างหักโหมหรือใช้เวลานานเกินไปอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม โดยจะเป็นการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดมากเกินไป อย่างอะดรีนาลินและคอร์ติซอล ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็ง ใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่หากกำลังป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ควรงดเว้นการออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายให้น้อยลง เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ อาจทำให้อาการป่วยทรุดลงจนฟื้นตัวได้ช้า