การฝากครรภ์ในช่วงโควิด-19 และข้อควรรู้สำหรับคุณแม่

การฝากครรภ์ในช่วงโควิด-19 (COVID-19) อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนกังวลและไม่อยากออกจากบ้านไปฝากครรภ์ตามวันนัดหมาย เพราะกลัวการได้รับเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การไปฝากครรภ์ตามนัดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยดูแลสุขภาพของคุณแม่ ติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และเฝ้าระวังความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่สมบูรณ์จนถึงวันคลอด

สถิติของคลังข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับบริการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์มีอัตราลดลงจากร้อยละ 85.5 ในไตรมาสแรก และลดลงเหลือร้อยละ 69.7 ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลสุขภาพก่อนคลอดครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ ลดลงจากร้อยละ 80.6 เหลือเพียงร้อยละ 53.4 

ในความเป็นจริงแล้ว การไม่ได้ฝากครรภ์ตามเกณฑ์ที่กำหนดอาจส่งผลกระทบต่อการติดตามพัฒนาของทารกในครรภ์ในช่วงที่แม่ตั้งครรภ์ได้ การฝากครรภ์ในช่วงโควิด-19 มีข้อควรรู้และควรปฏิบัติต่างจากปกติอย่างไร บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้คุณแม่ตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว

การฝากครรภ์ในช่วงโควิด-19 และข้อควรรู้สำหรับคุณแม่

การฝากครรภ์ตามนัดในช่วงโควิด-19 จำเป็นหรือไม่

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนมีปัญหาในการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์ตามนัด และคุณแม่อีกหลายคนอาจไม่อยากออกจากบ้าน เพราะการเดินทางไปโรงพยาบาลอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางโดยใช้รถสาธารณะ 

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเข้ารับการฝากครรภ์ตามวันและเวลาที่นัดหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ปกติหรือช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะการฝากครรภ์จะช่วยเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และรักษาได้ทันท่วงที

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีนัดตรวจร่างกาย ตรวจคัดกรองอื่น ๆ และฉีดวัคซีนสามารถไปฝากครรภ์ตามการนัดหมายได้ตามปกติ โดยติดต่อโรงพยาบาลก่อนถึงวันนัดหมายเพื่อยืนยันการนัดตรวจครรภ์และสอบถามข้อควรปฏิบัติในการไปฝากครรภ์ 

เมื่อถึงวันนัดตรวจ ควรสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นประมาณ 1–2 เมตร หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ไม่ใช้นิ้วมือสัมผัสบริเวณใบหน้า และควรล้างมือหลังหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ทันที

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการฝากครรภ์ในช่วงโควิด-19

โดยทั่วไป การฝากครรภ์ประกอบด้วยการตรวจประเมินต่าง ๆ ได้แก่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจวัดระดับความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคธาลัสซีเมียและเบาหวาน ตรวจหน้าท้องเพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพครรภ์และประเมินตนเองเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์

การนัดฝากครรภ์ในช่วงโควิด-19 อาจแตกต่างกันตามสถานการณ์และอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคน โดยมีข้อควรปฏิบัติต่อไปนี้

หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีประวัติสัมผัสเชื้อโควิด-19

ผู้ที่ไม่มีประวัติสัมผัสเชื้อโควิด-19 สามารถไปฝากครรภ์ตามนัดเดิม หรือให้แพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม โดยใช้เกณฑ์การนัดฝากครรภ์คุณภาพ 5 ครั้ง ดังนี้

  • การฝากครรภ์ครั้งแรก ควรฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด นับจากวันที่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์
  • การฝากครรภ์ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครรภ์อยู่ระหว่าง 13–18 สัปดาห์
  • การฝากครรภ์ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครรภ์อยู่ระหว่าง 19–26 สัปดาห์
  • การฝากครรภ์ครั้งที่ 4 เมื่ออายุครรภ์อยู่ระหว่าง 27–32 สัปดาห์
  • การฝากครรภ์ครั้งที่ 5 เมื่ออายุครรภ์อยู่ระหว่าง 33–38 สัปดาห์

ทั้งนี้จำนวนครั้งการนัดฝากครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนอาจแตกต่างกัน สูติแพทย์จะเป็นผู้ประเมินเพื่อนัดหมายติดตามการฝากครรภ์ตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล

หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19

การฝากครรภ์ของผู้ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แบ่งได้ 2 กรณี

  • หญิงตั้งครรภ์กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low Risk Pregnancy) ควรเลื่อนนัดฝากครรภ์ไปก่อนจนกว่าจะพ้นช่วงกำหนดเวลากักตัว โดยให้อยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในระหว่างนี้แพทย์อาจโทรศัพท์พูดคุยเพื่อติดตามอาการหรือนัดหมายการฝากครรภ์ใหม่ภายหลัง
  • หญิงตั้งครรภ์กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Pregnancy) ที่จำเป็นต้องนัดติดตามอาการ แพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ในการมาฝากครรภ์ตามนัด โดยอาจเลื่อนนัดฝากครรภ์ไปก่อนหรือหากจำเป็นต้องได้รับการตรวจให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อของโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด

หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19

ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ควรติดต่อโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยจะมีการสอบสวนโรค เฝ้าระวังอาการ และดูแลสุขภาพครรภ์แยกจากผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ

หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดไหลออกจากช่องคลอด ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น แพ้ท้องอย่างรุนแรง ปวดศีรษะและปวดท้องมากผิดปกติ มีไข้สูง และหายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอวันรุ่งขึ้นหรือรอจนถึงวันนัดครั้งต่อไป เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

การฝากครรภ์เป็นการดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจประเมินการตั้งครรภ์และตรวจคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งหญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการรุนแรงหลังได้รับเชื้อโควิด-19 มากกว่าผู้ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงควรดูแลตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการอยู่นสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ และปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19