การรักษาเริม เริม (Herpes)
เริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าแผลของเริมจะหายดีแล้ว เนื่องจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์จะยังคงหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทและจะแสดงอาการอีกครั้งเมื่อระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ดังนั้น การรักษาเริมโดยส่วนใหญ่เน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลเริม และการควบคุมความรุนแรงของอาการ ความถี่ของการเกิดอาการ รวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนั่นเอง
การบรรเทาอาการเจ็บปวดด้วยตัวเอง
เนื่องจากเริมสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา การรักษาเริมด้วยตัวเองจึงจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการปวดและอาการคันบริเวณแผลเริม ซึ่งวิธีการบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการคันบริเวณของเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศสามารถทำได้ดังนี้
วิธีการบรรเทาอาการเริมที่ปากด้วยตัวเอง ได้แก่
- ดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ และสามารถช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือมีรสจัด เนื่องจากอาจทำให้แผลเกิดการระคายเคืองได้
- หากรู้สึกเจ็บแผลในขณะแปรงฟัน ควรหลีกเลี่ยงการแปรงฟันเพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดการระคายเคืองเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนมาใช้น้ำยาบ้วนปากแทนชั่วคราว
- ประคบเย็นบริเวณแผลเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด และช่วยป้องกันไม่ให้แผลแห้งหรือปริแตก แต่ไม่ควรประคบเย็นหากบริเวณแผลมีของเหลวซึมออกมา
- หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนแสงแดดด้วยการทาลิปบาล์มที่มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันแสงยูวี อีกทั้งยังช่วยให้แผลชุ่มชื้นและช่วยป้องกันการปริแตกของแผลด้วย
วิธีการบรรเทาอาการเริมที่อวัยวะเพศด้วยตัวเอง ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส แกะ หรือเกาบริเวณแผล เพราะอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียด้วย
- หากมีอาการเจ็บปวดแผล ให้ล้างบริเวณรอบ ๆ แผลด้วยน้ำอุ่นอย่างน้อยวันละ 3–4 ครั้ง แต่ไม่ควรให้แผลโดนน้ำ
- หลังจากล้างทำความสะอาดบริเวณแผลแล้วควรใช้ลมเป่าให้แห้งแทนการเช็ดด้วยผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียดสีจนเกิดการระคายเคือง
- ควรสวมใส่กางเกงชั้นในที่ผลิตจากผ้าฝ้าย เนื่องจากเส้นใยฝ้ายสามารถดูดซับความชื้นได้ดี และไม่ควรสวมใส่ชุดชั้นในที่คับเกินไปเพราะอาจทำให้แผลถูกเสียดสีได้
- ประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด
การใช้ยา และการรักษาโดยแพทย์
เริมยังไม่มียาที่สามารถใช้รักษาได้โดยตรง แพทย์จึงอาจสั่งแก้ปวดทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการระคายเคือง นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาชาเพื่อบรรเทาอาการปวดชั่วคราว หรือใช้ยาต้านไวรัสเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและช่วยบรรเทาความรุนแรงและความถี่ในการเกิดโรคด้วย
ยาต้านไวรัสที่นิยมใช้ในการรักษาเริม มีดังนี้
- ยาทาชนิดครีม เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
- ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือปวดกล้ามเนื้อได้
การใช้ยาทาชนิดครีมควรใช้ทันทีเมื่อเริ่มมีอาการชาคล้ายเป็นเหน็บหรือแสบร้อนที่ผิวหนัง หากใช้เมื่อมีอาการรุนแรงแล้วจะไม่ค่อยได้ผล โดยควรทายาอย่างน้อยวันละ 4–5 ครั้ง และการทายาควรใช้ก้านสำลีชุบตัวยาแล้วนำไปทาบริเวณแผล ไม่ควรใช้นิ้วมือสัมผัสกับแผลโดยตรง อย่างไรก็ตาม การใช้ยาทาชนิดครีมไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสให้หายขาด หรือป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้ ทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการเท่านั้น
ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเริมซ้ำมากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือมีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบยับยั้งอาการในระยะยาว โดยรับประทานยาอะไซโคลเวียร์วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6–12 เดือน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และช่วยให้ความถี่ในการเกิดโรคซ้ำลดลง แต่อาจไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้อย่างสิ้นเชิง
การผ่าตัดคลอดของผู้ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเริม
สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และมีอาการของเริมเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้วิธีผ่าคลอด เนื่องจากการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติอาจทำให้เด็กทารกมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสและเกิดอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าหากในระหว่างตั้งครรภ์ไม่มีอาการของเริมแสดงออกมา ก็อาจคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์ที่มีอาการของเริมที่ปากหรือเริมที่อวัยวะเพศควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะการใช้ยารักษาเริมบางชนิดก็อาจส่งกระทบต่อทารกในครรภ์ได้