ความหมาย เริม (Herpes)
เริม (Herpes) คืออาการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ซึ่งเชื้อไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1และเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 โดยเริมมักเกิดขึ้นบนผิวหนัง 2 บริเวณ ได้แก่ เริมที่ปาก (Herpes Simplex) และเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes)
เริมเป็นโรคผิวหนังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่รักษาอาการให้สงบลงเท่านั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสจะยังคงสะสมอยู่ในปมประสาทของร่างกายและสามารถกลับมาแสดงอาการใหม่อีกครั้งหากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ยิ่งไปกว่านั้น เริมสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ทางน้ำลายหรือน้ำเหลือง หรือผ่านทางเพศสัมพันธ์ก็ได้เช่นกัน
สาเหตุของเริม
เริมมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง เช่น การสัมผัสกับแผลตุ่มพองหรือของเหลวใสที่อยู่ในแผลเริม เนื่องจากของเหลวในแผลเริมจะมีเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์อยู่
นอกจากนี้ การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ การทำกิจกรรมทางเพศที่ไม่ได้ป้องกัน หรือการใช้ของเล่นทางเพศ (Sex toy) กับผู้ที่ติดเชื้อ ก็สามารถทำให้เกิดเริมได้เช่นกัน
อาการเริม
โดยทั่วไปอาการของเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศจะค่อนข้างคล้ายกัน โดยจะเกิดตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ริมฝีปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา รวมถึงมีอาการเจ็บปวดหรือแสบแผลร่วมด้วย หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและหายช้า แต่ถ้าหากเป็นการติดเชื้อซ้ำอาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เร็วกว่า
อาการเริมที่ควรไปพบแพทย์
อาการเริมที่เกิดขึ้นครั้งแรกอาจทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรือปวดเนื้อเมื่อยตัว รวมถึงอาจมีอาการเจ็บปวดที่แผลรุนแรง นอกจากนี้ รอยโรคของเริมอาจคล้ายกับโรคติดเชื้อไวรัสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น จึงอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม
การวินิจฉัยเริม
โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะทำการวินิจฉัยเริมในเบื้องต้นโดยการสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและตรวจดูรอยโรคบนผิวหนัง รวมถึงแพทย์จะสอบถามประวัติการใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเริม หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
และหากแพทย์ไม่แน่ใจว่ารอยโรคที่เกิดขึ้นเป็นอาการของเริมหรือไม่ แพทย์อาจมีการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เนื่องจากอาการของเริมค่อนข้างคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคงูสวัด แผลร้อนใน และการติดเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาเริม
ปัจจุบันเริมยังไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ ส่วนแผลจากรอยโรคของเริมจะสามารถหายเองได้ภายในเวลา 2–6 สัปดาห์ การรักษาเริมจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- การบรรเทาอาการเจ็บปวด โดยใช้บรรเทาอาการปวดทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- การควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส โดยใช้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และช่วยลดความรุนแรงของอาการ โดยตัวยามักอยู่ในรูปแบบของยารับประทานหรือยาทาชนิดครีม
ภาวะแทรกซ้อนของเริม
ทั้งเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อที่บริเวณดวงตาทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือการติดเชื้อที่สมองจนทำให้เกิดสมองอักเสบ แต่การติดเชื้อที่สมองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในบางกรณีเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศและมีอาการแสดงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กได้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่ตั้งครรภ์ที่เคยติดเชื้อเริมควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
การป้องกันเริม
วิธีการป้องกันเริมที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโดยตรงอย่างการหอมแก้มและการจูบ นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ได้
สำหรับผู้ป่วยที่เคยเกิดการติดเชื้อมาก่อนแล้ว ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเนื่องจากเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายเมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ถ้าหากคุณดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเริมได้