การรักษาโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า (Depression)
มีผู้ป่วยจากภาวะซึมเศร้าจำนวนมากต้องทรมานจากภาวะซึมเศร้าอย่างยาวนาน เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการตรวจและการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม แต่จริง ๆ แล้วโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ และการรักษาสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์
ในการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และให้ความร่วมมือกับนักจิตบำบัดในการรักษา เพื่อให้อาการทุเลาจนหายดีในที่สุด
ในปัจจุบันการรักษาภาวะซึมเศร้ามีด้วยกัน 3 วิธีหลัก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ว่าผู้ป่วยเหมาะกับวิธีใด และอาจใช้การรักษาควบคู่กันไปมากกว่าหนึ่งวิธีก็ได้
การใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
ยาต้านเศร้าจะช่วยในการปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ควบคุมอารมณ์และความเครียด ในผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาต้านเศร้าผสานกับการบำบัดด้วยการพูดคุย ซึ่งการใช้ยาซึมเศร้ามีข้อควรรู้ดังนี้
- ยาต้านเศร้ามีหลายชนิดให้เลือกใช้ ผู้ป่วยอาจต้องลองเปลี่ยนตัวยา เพื่อค้นหาตัวยาที่จะได้ผลดีที่สุดและมีผลข้างเคียงต่อตนเองน้อยที่สุด ซึ่งโดยมากแพทย์มักเริ่มด้วยการสั่งจ่ายยากลุ่ม SSRIs ซึ่งปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาต้านซึมเศร้าชนิดอื่น ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs ได้แก่ ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ไซตาโลแพรม (Citalopram) และเอสไซตาโลแพรม (Escitalopram)
- การใช้ยาควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ยาอาจใช้เวลาในการเห็นผลนาน 3–4 สัปดาห์ และไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
- ยาอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายใน 2–3 สัปดาห์แรกที่ได้รับยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุน้อย คนใกล้ตัวจึงต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่มักพบในการใช้ยาต้านซึมเศร้า ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ และทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
จิตบำบัด (Psychotherapy)
การทำจิตบำบัดนับว่าได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าน้อย ถึงปานกลาง ทั้งนี้สาเหตุและอาการของผู้ป่วยจะเป็นปัจจัยให้นักบำบัดเลือกใช้วิธีบำบัดที่ต่างกันออกไป เช่น
- การบำบัดเพื่อช่วยปรับทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิสัมพันธ์ (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) จะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดในแง่ลบไปในทางที่ดีขึ้น โดยการมองสิ่งต่าง ๆ รอบข้างในแง่ดีและตรงกับความเป็นจริง และยังอาจช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักถึงสิ่งที่ทำให้ตนเกิดภาวะซึมเศร้าแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เลิกเศร้า
- การบำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy: IPT) โดยการมุ่งไปที่การบำบัดความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับบุคคลอื่น ๆ หรือปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่อาจเป็นเหตุของอาการซึมเศร้า เช่น การสื่อสารที่มีปัญหา หรือการรับมือกับการสูญเสียบุคคลใกล้ชิด
- การช่วยให้สามารถจัดการกับประสบการณ์ตึงเครียดในชีวิต (Problem–Solving Therapy: PST) เป็นวิธีบำบัดที่มักใช้ได้ผลกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นปัญหาและทางแก้อย่างตรงตามความจริง
- การให้ปรึกษา (Counselling) เป็นการบำบัดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยคิดทบทวนถึงปัญหาในชีวิตที่ได้พบเจอ และหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านั้น โดยมีผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้คอยสนับสนุนในการหาวิธีแก้ไข แต่ไม่ใช่การบอกให้ทำหรือเจ้ากี้เจ้าการให้ทำ
การกระตุ้นเซลล์สมอง (Brain Stimulation Therapies)
เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตนเองหรือคนอื่น ไม่สามารถรักษาโดยรอจนกว่ายาต้านซึมเศร้าจะออกฤทธิ์ได้ การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองและเส้นประสาทจึงกลายเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลที่สุด และไม่ได้มีอันตรายอย่างที่หลายคนเข้าใจ ได้แก่
- การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) อีกหนึ่งวิธีใหม่ เป็นการใช้ขดลวดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวางบนศีรษะผู้ป่วย แล้วส่งพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนไปกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ควบคุมอารมณ์ปกติและอารมณ์เศร้า
- การบำบัดช็อคด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) ด้วยการให้ยาสลบแล้วใช้กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่สมองผู้ป่วย ทั้งนี้ การบำบัดด้วยการช็อคไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะในระดับที่สามารถทนได้ หรือบางรายอาจสูญเสียความทรงจำชั่วคราว
นอกจากนี้ ในกรณีรุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีความคิดพยายามฆ่าตัวตาย แพทย์อาจให้ผู้ป่วยค้างที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
นอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์ข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยสามารถฝึกรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเอง ดังนี้
- พยายามลดเงื่อนไขหรือข้อห้าม อย่าฝืนทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อรู้สึกหดหู่
- อย่าตัดสินใจเรื่องสำคัญหากกำลังเผชิญภาวะตกต่ำทางอารมณ์ อาจทำให้คิดอ่านได้ไม่ดีพอ
- หมั่นบริหารจัดการเวลา การวางแผนถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างเป็นระเบียบในแต่ละวันอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
- เขียนบันทึกเพื่อระบายหรือปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ ออกไป
- รู้จักผ่อนคลายและจัดการกับความเครียด อาจหันไปนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะ
- อย่าแยกตัวออกจากสังคม พยายามเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัวและเพื่อน หรือเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าเพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่เผชิญภาวะซึมเศร้าเช่นเดียวกัน
บุคคลรอบข้างก็นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ผู้ป่วยก้าวผ่านภาวะซึมเศร้าไปได้ ผู้ใกล้ชิดควรช่วยชักจูงให้ผู้ป่วยเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษา โดยอาจช่วยในการนัดหมายและไปพบแพทย์พร้อมผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเป็นเรื่องยากและต้องใช้ความอดทน ต้องอาศัยความเข้าใจ ใส่ใจ ให้กำลังใจ และคอยพูดคุยและรับฟังผู้ป่วยอยู่เสมอ
รวมทั้งอาจชวนไปทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้แจ่มใสขึ้น เช่น ออกไปข้างนอก ไปเดินเล่น ตามความสมัครใจของผู้ป่วย และอย่าเพิกเฉยหากผู้ป่วยกล่าวถึงเรื่องการตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่เด็ดขาด ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนักบำบัดทางจิตทันที
ผู้ที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดอาจเสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี 24 ชั่วโมง หรือรีบพาไปพบจิตแพทย์ เพื่อขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ