การให้เลือด คือ วิธีทางการแพทย์สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากหรือมีปริมาณเลือดในร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทว่าการให้เลือดปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เลือดที่ใช้มาจากที่ใด มีความเสี่ยงได้รับเชื้อร้ายแรงที่อาจปะปนมาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรทราบเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดในการรักษา
เลือดที่ใช้ในการให้เลือด มาจากไหน ?
เลือดที่นำมาใช้ในกระบวนการให้เลือดมีแหล่งที่มา ดังนี้
- เลือดของผู้ป่วยเอง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าว่าตัวเองต้องได้รับการให้เลือด เช่น กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น หากผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง แพทย์อาจแนะนำให้บริจาคเลือดไว้ก่อน แต่จะใช้วิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
- เลือดจากคนในครอบครัว ญาติที่มีหมู่เลือดตรงกันและเข้ากันได้สามารถบริจาคเลือดเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยโดยตรง
- เลือดจากผู้บริจาค คือแหล่งที่มาของเลือดส่วนใหญ่ที่ใช้กันในปัจจุบัน เลือดที่ได้รับการบริจาคจะถูกเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารเลือด สภากาชาดไทย และนำออกมาใช้สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียเลือด ทั้งนี้ ผู้ที่จะบริจาคเลือด ได้ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีประวัติการเจ็บป่วยร้ายแรง การเสพยาเสพติด หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ โดยบริจาคเลือดได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย หรือหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ซึ่งจัดขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ ตามโอกาส
การให้เลือดปลอดภัยหรือไม่ ?
ผู้ป่วยที่ได้รับการให้เลือดอาจพบผลข้างเคียงได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตราย ทว่าบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้เลือดที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมาก
นอกจากนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดที่นำมาใช้กับผู้ป่วยมีความปลอดภัย หน่วยงานรับบริจาคเลือดจะคัดกรองคุณภาพของเลือดในเบื้องต้น โดยผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคเลือดจะต้องตอบคำถามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ประวัติการเดินทาง ผู้ที่ตอบแบบสอบถามผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้นจึงบริจาคเลือดได้ เมื่อได้รับเลือดจากการบริจาคแล้วยังต้องนำมาตรวจคัดกรองด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อไวรัสที่เป็นอันตราย เช่น เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ซึ่งเลือดที่มีความผิดปกติหรือมีเชื้อไวรัสปะปนจะไม่สามารถนำมาใช้ได้และถูกนำออกจากระบบในที่สุด ดังนั้น ผู้รับการให้เลือดจึงวางใจได้ว่าเลือดที่นำมาใช้มีความปลอดภัยและได้รับการรับรองจากหน่วยงานธนาคารเลือด
การให้เลือด กับความเสี่ยงที่ควรระมัดระวัง
ความผิดพลาดในขั้นตอนการตรวจคัดกรองเลือดที่บริจาคอาจทำให้มีเลือดที่ปะปนเชื้อโรคร้ายแรงบางชนิดหลุดเข้ามาในระบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับการให้เลือดติดเชื้อไปด้วย แต่ในปัจจุบันการติดเชื้อโรคจากการให้เลือดมีความเสี่ยงน้อยมาก โดยอัตราการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากการให้เลือดพบได้เพียง 1 ใน 1.5 ล้าน เชื้อไวรัสตับอักเสบบีพบเพียง 1 ใน 2.9 แสน และเชื้อไวรัสตับอักเสบซีพบเพียง 1 ใน 1.2 ล้านของเลือดที่ได้รับการบริจาคมาทั้งหมด
ส่วนความเสี่ยงจากกระบวนการให้เลือดที่มักพบได้ มีดังนี้
- เกิดการแพ้อย่างรุนแรง
- ช็อก เนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดไม่เพียงพอ
- มีอาการเจ็บปวด เกิดรอยฟกช้ำ หรือมีเลือดออกบริเวณที่แทงเข็มเพื่อให้เลือด
- มีไข้สูง หนาวสั่น หรือมีผื่นขึ้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันเนื่องจากน้ำท่วมปอด ปอดถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น
- ติดเชื้อแบคทีเรียในเลือด อาจเกิดจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด แต่พบได้น้อยมาก
- เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจากการถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลาย
- ให้เลือดผิดคนหรือผิดประเภท
ความเสี่ยงจากการให้เลือด ป้องกันได้อย่างไร
เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการให้เลือด ตัวผู้ป่วยและญาติใกล้ชิดควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้เลือดอย่างละเอียด ทั้งข้อดีข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้เลือด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ชี้แจงอย่างละเอียด ผู้ป่วยต้องปฎิบัติตามคำแนะนำในการให้เลือดอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ ก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเลือดจะตรวจความเข้ากันของเลือดที่จะนำมาใช้กับเลือดของผู้ป่วย โดยนำตัวอย่างของเลือดเพียงเล็กน้อยมาทดสอบดูปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกัน หากไม่มีสัญญาณที่เป็นอันตรายจึงจะให้เลือดได้ตามปกติ และก่อนการให้เลือด ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจดูอีกครั้งว่าเลือดดังกล่าวมีหมู่เลือด เดียวกันกับผู้ป่วยหรือไม่ อีกทั้งในระหว่างที่ให้เลือดจะมีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้เลือด