กินกล้วยหอมตอนเช้า ประโยชน์และข้อควรรู้ก่อนเลือกรับประทาน

การกินกล้วยหอมตอนเช้าเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่หลายคนนิยม เพราะกล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีประโยชน์ มีคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน จึงสามารถช่วยให้อิ่มท้องได้ แต่ก็ไม่หนักท้องมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม การกินกล้วยหอมตอนเช้าอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรือมีข้อควรระวังบางประการที่ควรศึกษาก่อนการกิน

กล้วยสุกขนาดกลาง 1 หวีให้พลังงานประมาณ 110 แคลลอรี่ ให้คาร์โบไฮเดรต 28 กรัม ใยอาหาร 3 กรัม และโปรตีน 1 กรัม อีกทั้งกล้วยยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโพแทสเซียม วิตามินบี 6 วิตามินซี และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิดด้วย

กินกล้วยหอมตอนเช้า

4 ประโยชน์ของการกินกล้วยหอมตอนเช้า

1. ช่วยให้รู้สึกอิ่มและเสริมพลังงานในตอนเช้า

กล้วยเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลจากธรรมชาติ ซึ่งคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย อีกทั้งคาร์โบไฮเดรตในกล้วยบางส่วนยังอยู่ในรูปแบบของใยอาหารที่สามารถย่อยได้ช้า ดังนั้น การกินกล้วยหอมตอนเช้าจึงช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องนาน หิวช้าลง และมีแรงสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างกระฉับกระเฉงและกระปรี้กระเปร่าได้นั่นเอง

2. ช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย

ใยอาหารที่อยู่ในกล้วยสามารถช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะใยอาหารที่ชื่อว่าเพคตินมีคุณสมบัติในการทำให้อุจจาระนิ่มลงและช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น อีกทั้ง ในกล้วยยังมีสารลิวโคไซยานิดิน (Leucocyanidin) ที่อาจมีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มความหนาของชั้นเมือกในกระเพาะอาหาร และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ดังนั้น การกินกล้วยหอมตอนเช้าจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันอาการท้องผูก ท้องอืดท้องเฟ้อ รวมถึงการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างง่าย ๆ เลยทีเดียว

3. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

แม้ว่ากล้วยจะมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในปริมาณมาก แต่ก็มีใยอาหารในปริมาณมากเช่นกัน และใยอาหารเหล่านี้สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ กล้วยจึงถือว่าเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index: GI) ต่ำ หรือหมายถึงผลไม้ที่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงทันทีหลังจากกินเสร็จนั่นเอง

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี การกินกล้วยอาจไม่ได้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงมากนัก แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การกินกล้วยในปริมาณมากพร้อมกันอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้นสูงได้ จึงควรระมัดระวังในการกินกล้วยในปริมาณมากเกินไป

4. อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ

กล้วยอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) และสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compounds) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้เกิดการอักเสบเสียหายจากปฏิกิริยาของสารอนุมูลอิสระภายในร่างกาย 

อีกทั้ง กล้วยยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุโพแทสเซียมที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดความดันโลหิตได้ ดังนั้น การกินกล้วยตอนเช้าจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตก 

สิ่งที่ควรรู้ในการกินกล้วยหอมตอนเช้าให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

หากต้องการกินกล้วยหอมตอนเช้าเพื่อบำรุงสุขภาพ คุณควรศึกษาข้อควรระวังอย่างถี่ถ้วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีเคล็ดลับบางประการที่ควรรู้เพื่อช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการกินกล้วยหอมตอนเช้ามากขึ้นด้วย

ข้อควรระวังและเคล็ดลับในการกินกล้วยหอมตอนเช้า มีดังนี้

  • การกินกล้วยเป็นมื้อเช้าเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงควรกินร่วมกับอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น เช่น อาหารจำพวกโปรตีนที่ดี หรืออาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง
  • อาจกินกล้วยร่วมกับอาหารชนิดอื่นที่มีสรรพคุณบำรุงสุขภาพและมีแคลอรีต่ำเป็นมื้อเช้าหรือเป็นอาหารว่าง เช่น กินกล้วยกับกรีกโยเกิร์ตและเมล็ดเจีย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการกินกล้วยเป็นมื้อเช้า และการกินกล้วยในปริมาณมากในมื้อเดียว เพราะอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ในตอนเช้าได้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานรวมถึงผู้ที่มีสุขภาพดีควรกินกล้วยวันละไม่เกิน 1 ลูก เพราะเป็นปริมาณที่เหมาะสมและอาจช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงจนเกินไปได้

การกินกล้วยหอมตอนเช้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน และควรกินร่วมกับอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและหลากหลาย รวมถึงอาจช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงเกินไปจนส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพตามมาด้วย