กินข้าวแล้วคลื่นไส้ สาเหตุและวิธีแก้ไขเมื่อเกิดอาการ

หากมีอาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้ไม่ควรละเลย เพราะในบางกรณีอาจมีสาเหตุมาจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ภาวะอาหารเป็นพิษ หรือการแพ้อาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการแพ้อาหารรุนแรงอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว จึงควรทราบสาเหตุของการเกิดอาการที่แน่ชัด และหาวิธีรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสม

อาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้อาจเกิดขึ้นอย่างไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน หรือหายได้จากการดูแลตัวเองที่บ้าน แต่ในบางกรณีก็อาจมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาเจียนต่อเนื่อง แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ซึ่งเป็นอาการที่มีความอันตรายถึงแก่ชีวิต และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

กินข้าวแล้วคลื่นไส้

9 สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้

อาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. การกินอาหารมากเกินไป 

การกินอาหารในปริมาณมากเกินที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะการกินอาหารจำพวกบุฟเฟ่ต์และอาหารที่มีไขมันสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้เกิดอาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด และคลื่นไส้ตามมา นอกจากนี้ การกินอาหารมื้อใหญ่หลังจากการอดอาหารมาเป็นเวลานาน หรือการนอนราบหลังจากกินอาหารทันที ก็อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน

2. การแพ้อาหาร 

อาหารกินข้าวแล้วคลื่นไส้อาจมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล ถั่วบางชนิด นมวัว หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งในบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้หรือไม่สบายท้องแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในบางคนก็อาจเกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น เกิดผื่นลมพิษ มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ รวมถึงอาการแน่นหน้าอก และหายใจลำบากร่วมด้วย

3. ภาวะอาหารเป็นพิษ

อาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้อาจมีสาเหตุมาจากภาวะอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ซึ่งมักเกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารที่มีกรรมวิธีการทำที่ไม่สะอาด รวมถึงอาหารที่หมดอายุหรือเน่าเสียได้ง่าย เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ หรืออาหารที่อยู่ในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน ซึ่งภาวะอาหารเป็นพิษมักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ร่วมกับอาหารปวดท้องและท้องเสียด้วย

ทั้งนี้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้มากกว่าคนทั่วไป

4. การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย 

อีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หลังจากกินอาหารได้ คือการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น การติดเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) โดยการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียมักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หลังจากกินอาหารภายใน 24–48 ชั่วโมง และมักมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หรือมีไข้ร่วมด้วย

5. ภาวะกรดไหลย้อน 

ภาวะกรดไหลย้อนเป็นปัญหาสุขภาพที่กวนใจใครหลายคน และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดอาการคลื่นไส้หลังจากกินอาหารได้ด้วย โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกรดที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกและคลื่นไส้ตามมา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ่อยหลังจากการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด อาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารมื้อใหญ่

6. โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) อาจส่งผลให้ระบบย่อยอาหารไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อระบบย่อยอาหารทำงานได้ช้ากว่าปกติก็จะทำให้อุจจาระเกิดการตกค้างสะสมภายในลำไส้ จนส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ขึ้นหลังจากกินอาหาร ร่วมกับมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และมีพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ปกติตามมา

7. โรคที่เกี่ยวกับถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีคืออวัยวะหนึ่งที่อยู่ภายในตับและมีหน้าที่ผลิตน้ำดี ซึ่งน้ำดีจะมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอาหารจำพวกไขมันที่ร่างกายกินเข้าไป แต่หากถุงน้ำดีทำงานผิดปกติจากการอักเสบหรือการมีนิ่วในถุงน้ำดี ก็จะไม่สามารถผลิตน้ำดีออกมาได้อย่างเหมาะสม ก็อาจไม่มีน้ำดีเพียงพอสำหรับกระบวนการย่อยสลายไขมัน และอาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากกินอาหารได้

8. ความเครียด

อาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจหรือสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งจะเกิดจากระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลที่ถูกหลั่งออกมาเมื่อร่างกายเกิดความเครียด จนส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หลังจากกินอาหารนั่นเอง

9. การตั้งครรภ์ 

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเกิดอาการคลื่นไส้หลังจากกินอาหารได้เช่นกัน เพราะเมื่อตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ เมื่อระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดความไม่สมดุล ก็อาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการคลื่นไส้หลังจากกินอาหารนั่นเอง

วิธีรับมือหรือป้องกันอาการกินข้าวแล้วคลื่นไส้

วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการคลื่นไส้หลังจากมื้ออาหารได้

  • จิบชาสมุนไพร เช่น ชาคาโมมายล์ ชาสะระแหน่ หรือน้ำขิง หลังจากมื้ออาหารหากมีอาการคลื่นไส้
  • กินอาหารคำเล็ก ๆ และเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืนเสมอ
  • กินอาหารมื้อเล็ก ๆ ทีละน้อย ๆ และแบ่งเป็นหลายมื้อ แทนการกินอาหารมื้อใหญ่ในคราวเดียว
  • อาจเลือกกินอาหารรสจืดเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด หวานจัด หรืออาหารที่มีน้ำมันในปริมาณมาก
  • ไม่ควรนอนราบทันทีหลังจากกินอาหารเสร็จ และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารก่อนเวลานอนประมาณ 2 ชั่วโมงด้วย
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เคยกินและเกิดอาการไม่พึงประสงค์ และควรสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองหลังจากลองกินอาหารใหม่ ๆ ที่ไม่เคยกินด้วย
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารที่มีกระบวนการทำที่ไม่สะอาด และอาหารที่ถูกทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้เก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม

ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้อย่างรุนแรง ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียนต่อเนื่องนานเกิน 24 ชั่วโมง อาเจียนเป็นเลือด ท้องเสียอย่างรุนแรง อุจจาระมีสีดำ เกิดภาวะขาดน้ำ ปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และไม่มีสติ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที