กินข้าวแล้วปวดท้อง รู้จัก 11 สาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดจากการกินอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป ซึ่งมักทำให้อาหารไม่ย่อย และเกิดอาการปวดท้องตามมา นอกจากนี้ กินข้าวแล้วปวดท้องยังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น แพ้อาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน

กินข้าวแล้วปวดท้องเป็นบางครั้งหรือเพียงชั่วคราว อาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวลหรือเป็นสัญญาณอันตราย อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการกินข้าวแล้วปวดท้องเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหรืออาการบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

กินข้าวแล้วปวดท้อง

สาเหตุที่ทำให้กินข้าวแล้วปวดท้อง

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากพฤติกรรมการกินอาหาร และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น

1. การกินอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดจากการกินอาหารในปริมาณมากเกินกว่าความจุของกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารต้องขยายตัวเพื่อรองรับปริมาณอาหารส่วนเกิน และอาจทำให้อาหารไม่ย่อย จนรู้สึกแน่นท้อง หรือปวดท้องหลังกินข้าวได้

นอกจากนี้ กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดจากการกินอาหารเร็วเกินไป จนอาจเผลอกลืนอากาศมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดแล้วปวดท้องได้ โดยทั้งการกินอาหารมากเกินไปและเร็วเกินไปมักเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้กินข้าวแล้วปวดท้อง

2. อาหารไม่ย่อย

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดจากอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป การกินอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป การกินอาหารรสเผ็ด อาหารมัน หรืออาหารที่เป็นกรดโดยอาหารไม่ย่อยมักส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ แสบท้อง รวมไปถึงอาการปวดท้องหลังกินข้าวอีกด้วย

3. โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะหรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การกินยาแก้ปวดเป็นประจำ ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โดยโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง แสบท้อง และปวดท้องส่วนบน ซึ่งมักปวดมากขึ้นหลังจากกินอาหาร

 4. โรคกรดไหลย้อน (GERD)

กรดไหลย้อนอาจเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร ซึ่งอาการกรดไหลย้อนอาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม หากกรดไหลย้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อน (GERD) ได้ 

โดยโรคกรดไหลย้อนอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แสบหน้าอก กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเปรี้ยวหรือขมภายในปากและคอ ทั้งนี้ หากกินข้าวแล้วปวดท้องส่วนบน ก็อาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

5. โรคลำไส้แปรปรวน 

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร และอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดท้องที่มักแย่ลงหลังจากกินอาหาร ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก โดยสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนนั้นยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากความเครียด การกินอาหารบางชนิด หรือการที่ครอบครัวเคยมีประวัติการป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวนมาก่อน

6. การแพ้อาหารบางชนิด

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเป็นอาการของการแพ้อาหารที่กินเข้าไป โดยการแพ้อาหารอาจเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่ออาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเ นอกจากปวดท้องแล้ว อาจเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการคันและผื่นบนผิวหนัง เวียนหัว หายใจไม่ออก ท้องเสีย โดยความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

7. ภูมิแพ้อาหารแฝง

ภูมิแพ้อาหารแฝงคืออาการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิด และอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น  ท้องอืด ผายลม ท้องเสีย รวมไปถึงปวดท้องหลังกินอาหารที่แพ้ โดยตัวอย่างของอาหารหรือสารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝง เช่น เช่น แล็กโทส กลูเตน คาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือผงชูรส 

8. อาหารเป็นพิษ

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษหรือปนเปื้อนแบคทีเรีย เช่น เนื้อหมูหรือไก่ที่ไม่สุก นมวัวที่ยังไม่ผ่านการทำพาสเจอไรซ์ ผักผลไม้ที่ยังไม่ล้าง ซึ่งการกินอาหารเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เช่น ไข้สูง ปวดหัว อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเสีย รวมไปถึงปวดท้องหลังกินข้าว

9. แผลในกระเพาะอาหาร

กินข้าวแล้วปวดท้องอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องหรือปวดท้องบริเวณสะดือได้

10. นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง ถุงน้ำดีทำงานผิดปกติ โดยนิ่วในถุงน้ำดีอาจทำให้กินข้าวแล้วปวดท้อง โดยเฉพาะการกินข้าวหรืออาหารในปริมาณมากหรือกินอาหารที่มีไขมันสูง นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องตรงกลางหรือปวดท้องฝั่งขวาบน

11. ตับอ่อนอักเสบ

ตับอ่อนอักเสบอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้หลังจากกินข้าวแล้วปวดท้อง โดยตับอ่อนอักเสบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ท่อน้ำดีอุดตัน การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ซึ่งอาการปวดท้องอาจเริ่มจากช่วงท้องส่วนบน และปวดร้าวไปถึงหลัง นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน

สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์ เมื่อกินข้าวแล้วปวดท้อง

อาการปวดท้องมักเป็นสัญญาณของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากกินข้าวแล้วปวดท้องเกิดขึ้นไม่บ่อยหรืออาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และอาจรักษาอาการปวดท้องได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ การรักษาอาการกินข้าวแล้วปวดท้องมักขึ้นอยู่กับสาเหตุ ดังนั้น การทราบสาเหตุของอาการปวดท้องหลังกินข้าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ได้รับการรักษาอาการปวดท้องอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากกินข้าวแล้วปวดท้องเกิดขึ้นบ่อย ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการกินข้าวแล้วปวดท้องร่วมกับอาการต่าง ๆ เช่น

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกินข้าวแล้วปวดท้องอีกครั้ง ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารในปริมาณที่พอดี กินผักและผลไม้ที่มีประโยชน์และมีไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝง