กินยากับนมแล้วไม่ได้ผลจริงหรือ? คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัยในยามเจ็บป่วยแล้วต้องกินยา บางคนคิดว่าเป็นความจริง บางคนคิดว่าเป็นเพียงความเชื่อที่ส่งต่อกันมา แต่ความจริงแล้วนมสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาได้ แต่ไม่เสมอไป
อย่างที่ทราบกันดีว่านมที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคมักเป็นนมวัว แต่คนที่กินนมประเภทอื่น ๆ เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ หรือผลิตภัณฑ์อื่นจากนมอย่างโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวก็อาจสงสัยด้วยเช่นกันว่า การกินนมชนิดอื่นที่ไม่ใช่นมวัวร่วมกับยาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาหรือไม่ ส่งผลอย่างไร บทความนี้อาจไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปัญหานี้ได้
กินยากับนม ส่งผลอย่างไร?
เครื่องดื่มประเภทนมสามารถส่งผลต่อการทำงานของยาได้จริง แต่ไม่ใช่ยาทั้งหมด โดยยาที่มักมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อกินคู่กับนม คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ อย่างโรคทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ เช่น กลุ่มยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) และกลุ่มยาควิโนโลน (Quinolones) นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะยังมีอีกหลายประเภท หากจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ที่ถูกต้องเพื่อให้ยามีประสิทธิภาพมากที่สุด
ส่วนสาเหตุที่การกินยากับนมส่งผลให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลมีสาเหตุมาจากสารอาหารในนมที่ทำปฏิกิริยากับตัวยา โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า สารอาหารประเภทแคลเซียม ธาตุเหล็ก และแมกนีเซียมปริมาณสูงที่อยู่ในนมจะเข้าไปจับตัวกับยาปฏิชีวนะส่งผลให้ยาไม่สามารถละลายหรือแตกตัวได้ จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมยา ด้วยปฏิกิริยานี้จึงทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว การกินยากลุ่มบิสฟอสโฟเนท (Bisphosphonate) ที่เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน ร่วมกับนมก็อาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมของยาได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงอาจมียาประเภทอื่นที่เมื่อกินกับนมแล้วจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้
อย่างไรก็ตาม นอกจากนมวัวแล้ว การกินยากับนมชนิดอื่น เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมแพะ นมแม่ ผลิตภัณฑ์จากนมวัวอย่างโยเกิร์ต นมเปรี้ยว หรือชีสก็อาจส่งผลต่อการทำงานยาได้เช่นเดียวกัน แต่อาจส่งผลแตกต่างกันตามยาที่ใช้และสารอาหารในนมประเภทนั้น ๆ
วิธีกินยาที่ถูกต้อง
หลายคนคงทราบแล้วว่าการกินยากับนมส่งผลอย่างไร จึงควรใช้ยาอย่างถูกวิธีเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของการเจ็บป่วย
- กินยากับน้ำเปล่าเสมอ
- หลีกเลี่ยงการกินยากับนม ยาลดกรด และอาหารเสริม
- หากต้องการดื่มนม ควรดื่มหลังกินยา 1-2 ชั่วโมง
- อ่านฉลากยาก่อนใช้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
- หากสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาหรือสอบถามแพทย์และเภสัชกร
สุดท้ายนี้ นอกจากนมแล้ว อาหารบางประเภทก็ส่งผลต่อการทำงานของยาได้เช่นเดียวกัน เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่น้ำผลไม้ ดังนั้น เมื่อไปซื้อยาหรือได้รับยา ควรปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง