กินหวานแล้วปวดหัว สาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

กินหวานแล้วปวดหัว เป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นจากกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม โดยอาการกินหวานแล้วปวดหัวอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ กินหวานแล้วปวดหัวเป็นอาการที่สามารถรักษาและป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการในอนาคตได้ 

น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในอาหารตามธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถเติมในอาหารเพื่อเพิ่มรสหวานให้แก่อาหาร เมื่อกินน้ำตาล ร่างกายจะย่อยน้ำตาลเป็นกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานให้แก่ร่างกายผ่านกระแสเลือด แต่การกินน้ำตาลหรือกินหวานอาจส่งผลต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการกินหวานแล้วปวดหัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในบางราย

Eat sweet and get a headache

สาเหตุที่ทำให้กินหวานแล้วปวดหัว

กินหวานแล้วปวดหัวอาจเกิดขึ้นได้เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวได้ โดยปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกินหวานแล้วปวดหัวมีหลายสาเหตุ เช่น

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

กินหวานแล้วปวดหัวอาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังกินอาหาร โดยร่างกายจะย่อยน้ำตาลในอาหารเป็นน้ำตาลกลูโคส จึงอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยปกติแล้ว ร่างกายจะปล่อยอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ในบางกรณี เช่น กินอาหารที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเยอะ มีภาวะดื้ออินซูลิน เป็นโรคเบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายอาจปล่อยฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว และนำไปสู่อาการปวดหัวได้ นอกจากนี้ ผู้ที่กินหวานแล้วปวดหัวยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เหนื่อยล้า สมองตื้อ ตามัว หิวน้ำบ่อย 

2. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

กินหวานแล้วปวดหัวอาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกันโดยหลังจากกินอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงทำให้ร่างกายปล่อยอินซูลินออกมาในปริมาณมากเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ แต่ในบางครั้ง ร่างกายอาจผลิตอินซูลินอย่างต่อเนื่องจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ โดยการกินหวานแล้วปวดหัวที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดขึ้นหลังจากกินอาหาร 2–5 ชั่วโมง 

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ เวียนหัว หงุดหงิดง่าย หัวใจเต้นเร็ว 

3. โรคเบาหวาน

ร่างกายของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลตามปกติ โดยอาจจำเป็นต้องใช้ยา การคุมอาหาร และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานกินอาหารที่มีรสหวานและไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเกิดอาการปวดหัวหลังกินอาหารได้

4. ไมเกรน

กินหวานแล้วปวดหัวอาจเป็นสัญญาณของอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งเป็นอาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่มักเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว โดยไมเกรนอาจถูกกระตุ้นจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังจากกินข้าว ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมา

ทั้งนี้ ไมเกรนอาจถูกกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งน้ำตาลหรืออาหารรสหวานอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการควรจดบันทึกสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอาการกินหวานแล้วปวดหัวไมเกรนในอนาคตได้

5. ผลข้างเคียงของยา

ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน เช่น ยาอินซูลิน ยากลุ่มยับยั้งสารเอสจีแอลทีทู (SGLT2 inhibitors) และยาอื่น ๆ เช่น กลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) โดยการกินยาเหล่านี้ก่อนหรือหลังอาหารอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกินหวานแล้วปวดหัวได้

วิธีรับมือเมื่อกินหวานแล้วปวดหัวอย่างเหมาะสม

การรับมือกับการกินหวานแล้วปวดหัวสามารถทำได้โดยการบรรเทาอาการปวดหัวด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การพักผ่อน และกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการกินหวานแล้วปวดหัวในอนาคต เช่น

  • ควรลดการกินหวาน หลีกเลี่ยงหรือลดการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ลูกอม รวมถึงการใส่น้ำตาลในอาหารเยอะจนเกินไป 
  • เลือกกินอาหารที่ไม่ยังผ่านการแปรรูปและมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น แอปเปิล แคร์รอต ธัญพืชต่าง ๆ เพราะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะช่วยดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เลือดช้า และส่งผลให้ระดับน้ำตาลไม่เพิ่มขึ้นสูงทันทีหลังจากกินอาหาร 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • หากเป็นโรคเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ และกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม หากกินหวานแล้วปวดหัวเป็นประจำ หรืออาการปวดหัวไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ควรไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม