กินแล้วอ้วก หรือรับประทานอาหารแล้วอาเจียน อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ต้องเจอกับความเครียดหนัก ๆ หรือเวลาที่รับประทานอาหารมากเกินไปในเวลาสั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการรับประทานอาหารแล้วอาเจียนมักเพียงส่งผลให้ผู้ที่มีอาการเกิดความรู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายตัวเท่านั้น ซึ่งมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ
อย่างไรก็ตาม อาการอาเจียนที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารก็ยังคงเป็นอาการที่ไม่ควรถูกละเลย เนื่องจากในบางครั้ง อาการอาเจียน หรือความรู้สึกคลื่นไส้หลังรับประทานอาหารก็อาจจะเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกายที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ได้เช่นกัน
7 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกินแล้วอ้วก
นอกจากความเครียดและการรับประทานอาหารที่มากเกินไปแล้ว อาการกินแล้วอ้วกหรือรับประทานอาหารแล้วอาเจียนก็อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
1. อาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษเป็นภาวะที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือปรสิต ซึ่งสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็อาจมีตั้งแต่การใช้มือที่ไม่สะอาดหยิบจับอาหาร การใช้อุปกรณ์ทำอาหารที่ไม่สะอาด หรือแม้แต่การจัดเก็บอาหารที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ อาการของภาวะอาหารเป็นพิษอาจจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน อีกทั้งระยะเวลาแสดงอาการก็อาจแตกต่างกันได้อีกด้วย เช่นบางคนอาจเกิดอาการภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ในขณะที่บางคนอาจจะเกิดอาการหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนไปแล้วหลายสัปดาห์ โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ลักษณะอาการที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีไข้ขึ้น
2. แพ้อาหาร
แพ้อาหารเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไปโดยการตอบสนองต่ออาหารบางชนิดในลักษณะคล้ายสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
โดยอาการที่เกิดขึ้นจากกลไกนี้ก็เช่น มีผื่นขึ้น ท้องอืด ปวดท้อง รู้สึกหนาว ใจสั่น คลื่นไส้ และมีอาการบวมบริเวณดวงตาและลำคอ
3. ภาวะ Food Intolerance
ภาวะ Food Intolerance หรือที่บางคนอาจจะเรียกกันว่า ภูมิแพ้อาหารแฝง เป็นภาวะหนึ่งที่อาจส่งผลให้บางคนเกิดอาการกินแล้วอ้วกได้เช่นกัน
ทั้งนี้ แม้หลายคนจะรู้จักภาวะนี้ในชื่อภูมิแพ้อาหารแฝง แต่ภาวะนี้ไม่ได้ถูกจัดเป็นโรคภูมิแพ้ และไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันเหมือนอย่างภาวะแพ้อาหาร แต่จะมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์บางชนิดสำหรับย่อยสารอาหารบางชนิดไป
โดยนอกจากอาการกินแล้วอ้วกแล้ว ผู้ที่มีภาวะ Food Intolerance ยังอาจพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ อาการท้องอืด ปวดท้อง และคลื่นไส้ ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้
4. กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารเนื่องจากหูรูดที่มีหน้าที่คอยป้องกันน้ำย่อยไหลย้อนกลับทำงานผิดปกติไป โดยอาการหลัก ๆ ของภาวะนี้ก็คือ อาการแสบร้อนกลางทรวงอก อย่างไรก็ตาม บางคนที่ป่วยเป็นกรดไหลย้อนก็อาจมีอาการกินแล้วอ้วกร่วมด้วยได้เช่นกัน
5. ลำไส้แปรปรวน
ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) เป็นโรคที่ส่งผลให้การเคลื่อนตัวของอุจจาระในลำไส้เร็วหรือช้าผิดปกติไปจนนำไปสู่อาการผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงอาการกินแล้วอ้วกตามมาได้
ทั้งนี้ นอกจากอาการกินแล้วอ้วก ผู้ป่วยโรคนี้ยังมักพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดท้อง ปวดอุจจาระบ่อย ท้องอืด ท้องเสียสลับกับท้องผูก อุจจาระปนเมือก และรู้สึกอุจจาระไม่สุด
6. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการที่ลำไส้เกิดการติดเชื้อ โดยสาเหตุที่มักพบก็คือการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค
ส่วนอาการที่มักพบได้จากภาวะนี้ นอกจากอาการกินแล้วอ้วกแล้ว ผู้ที่ป่วยยังอาจพบอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ถ่ายเป็นน้ำ รวมถึงอาจมีไข้ร่วมด้วย
7. บูลิเมีย (Bulimia)
โรคบูลิเมีย หรือโรคล้วงคอเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในลักษณะที่ผิดปกติไป โดยการรับประทานอาหารในปริมาณมากและขับออกมาด้วยวิธีที่อันตราย เช่น ล้วงคอเพื่อให้อาเจียน รับประทานยาระบายผิดวิธี หรือรับประทานยาขับปัสสาวะ รวมถึงบางคนอาจยังอาจมีการออกกำลังกายอย่างหนัก หรืออดอาหารร่วมด้วย เนื่องจากความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวและรูปร่าง
ทั้งนี้ โรคนี้จะแตกต่างจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ยกไปในข้างต้น เนื่องจากโรคนี้จะเป็นโรคที่ผู้ป่วยพยายามอาเจียนด้วยตนเองหลังจากรับประทานอาหาร
นอกจากโรคหรือภาวะผิดปกติที่ยกตัวอย่างไป อาการกินแล้วอ้วกยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นได้ เช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ตับอ่อนอักเสบ เมารถ อาการแพ้ท้องในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือในบางครั้งก็อาจเป็นผลมาจากการรับประทานยาบางชนิดได้เช่นกัน
อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการกินแล้วอ้วกควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากมีอาการเข้าข่ายในลักษณะดังต่อไปนี้
- อุจจาระปนเลือด หรือมีสีดำผิดปกติ
- เจ็บหน้าอก
- ปวดท้องรุนแรง
- ใจสั่น
- สัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น หิวน้ำผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลง อ่อนเพลีย และเวียนศีรษะ
- ท้องเสียติดต่อกันหลายวัน
- มีไข้
- ผิวและดวงตามีสีออกเหลือง
วิธีรับมือกับอาการกินแล้วอ้วก
สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีอาการในลักษณะข้างต้น ในเบื้องต้นให้พยายามดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงคอยสังเกตอาการว่าเกิดขึ้นเมื่อไร เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารประเภทใด และในแต่ละครั้งเกิดอาการนานเท่าไร
ทั้งนี้ วิธีที่กล่าวไปเป็นเป็นการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากลองทำตามแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ อาการแย่ลง หรืออาการดีขึ้นแต่กลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาที่เหมาะสม