หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ไฟเบอร์ (Fiber) หรือใยอาหารเป็นสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพหลายประการ แต่อาจยังไม่ทราบว่าการกินไฟเบอร์มากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานบางอย่างของร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะระบบขับถ่าย และการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด
ไฟเบอร์ หรือใยอาหารพบได้มากในผักผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และถั่วต่าง ๆ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำได้ (Soluble Fiber) และไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำไม่ได้ (Insoluble Fiber) ซึ่งอาหารแต่ละอย่างก็จะมีปริมาณไฟเบอร์แต่ละชนิดที่แตกต่างกัน บางอย่างอาจมีไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำได้สูง แต่บางอย่างอาจมีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำไม่ได้อยู่สูง
ไฟเบอร์แต่ละชนิดจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ประโยชน์โดยรวมคล้ายกัน เช่น ป้องกันอาการท้องผูก และอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ ไฟเบอร์ก็เหมือนกับสารอาหารชนิดอื่น ๆ ที่แม้จะมีโยชน์มากมาย แต่หากร่างกายได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสีย เราจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสม และวิธีรับประทานให้ปลอดภัย
อาการที่อาจพบได้เมื่อกินไฟเบอร์มากเกินไป
สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพปกติ ปริมาณการรับประทานไฟเบอร์ที่เหมาะสมในแต่ละวันจะอยู่ที่ประมาณ 25 มิลลิกรัม แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีประวัติป่วยเป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ลำไส้อุดตัน โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ หรือโรคใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมสารอาหาร ปริมาณไฟเบอร์ที่ควรรับประทานอาจจะแตกต่างไปบ้าง ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน
โดยอาการที่อาจพบได้จากการกินไฟเบอร์มากเกินไปมีดังต่อไปนี้
นอกจากนี้ การกินไฟเบอร์มากเกินไปยังอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดของร่างกายอีกด้วย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี ซึ่งเมื่อกระบวนการดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้มีปัญหา ร่างกายก็อาจมีภาวะขาดแร่ธาตุจนเกิดอาการบางอย่างตามมาได้ เช่น รู้สึกปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย และใจสั่น
วิธีรับมือเมื่อเกิดอาการผิดปกติจากการกินไฟเบอร์มากเกินไป
ในเบื้องต้น ผู้ที่เกิดอาการผิดปกติจากการกินไฟเบอร์มากเกินไปอาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีไฟเบอร์
- พยายามดื่มน้ำให้มากขึ้น
- รับประทานรากชิโครี่ หรืออาหารที่มีอินูลิน (Inulin) เป็นส่วนผสม โดยตัวอย่างอาหารที่มีอินูลินก็เช่น กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง หรือหัวหอม
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา หรือกาแฟ เนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารที่อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของลำไส้ได้
- รับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีขิงเป็นส่วนผสม เนื่องจากขิงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้
- ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหาร
สำหรับผู้ที่ลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจลองรับประทานยาระบาย เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้เช่นกัน แต่ก่อนใช้ควรอ่านวิธีใช้ยาและตรวจดูวันหมดอายุบนฉลากยาก่อน หรืออาจจะปรึกษาเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ทั้งนี้ ผู้ที่พบอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง ไม่สามารถผายลมออกมาได้ หรืออุจจาระไม่ออกหลังจากกินไฟเบอร์มากเกินไป ไม่ควรทำตามวิธีในข้างต้นหรือหายามารับประทานเอง และควรรีบไปแพทย์ทันที เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติที่รุนแรงทางร่างกายได้
หลังจากที่อาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว ให้กลับไปกินไฟเบอร์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้พยายามรับประทานในปริมาณที่ไม่มากเกินไป โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณให้ครบ 25 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพปกติ ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละน้อยไปพร้อมกับสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากการกินไฟเบอร์มากเกินไปซ้ำ
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการกินไฟเบอร์ อาจจะลองใช้วิธีแบ่งปริมาณไฟเบอร์ที่ต้องการกินในแต่ละวันออกเป็นมื้อย่อยหลาย ๆ มื้อด้วยก็ได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติ รวมถึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย เนื่องจากการที่ร่างกายได้รับน้ำที่เพียงพอขณะกินไฟเบอร์ อาจมีส่วนช่วยให้ไฟเบอร์ทำงานได้ดีขึ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการกินไฟเบอร์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย และหากเป็นไปได้ก็อาจจะลองเลือกกินไฟเบอร์จากแหล่งธรรมชาติอย่างผักและผลไม้ก่อน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดอื่นอย่างครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายด้วย