ก้างปลาติดคอ เผลอกลืนวัตถุแปลกปลอม ควรทำอย่างไร ?

ก้างติดคอและปัญหาเผลอกลืนอาหารไม่ทันระวังอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองและสร้างความรำคาญใจ และในบางครั้งก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเกิดแผลบริเวณหลอดอาหาร ทำให้รู้สึกเจ็บทุกครั้งที่กลืน นอกจากนี้ วัตถุแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ก้างปลาก็อาจติดคอได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งสร้างความกังวลใจให้พ่อแม่ไม่น้อย มาดูกันว่าวิธีจัดการกับปัญหานี้ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

Fish Bone Stuck in Throat

อาการเมื่อเผลอกลืนวัตถุแปลกปลอมหรือมีก้างติดคอ

หลายคนรู้ได้ด้วยตนเองว่ามีสิ่งแปลกปลอมหรือก้างติดคอ แต่หากเป็นทารกหรือเด็กเล็กที่อาจไม่สามารถอธิบายอาการให้ฟัง และในกรณีที่วัตถุดังกล่าวขวางทางเดินหายใจหรือทำให้เกิดบาดแผล คนใกล้ชิดอาจสังเกตอาการผิดปกติได้ดัังนี้

  • แสดงอาการเจ็บเมื่อกลืน กลืนลำบาก น้ำลายไหล หรือเจ็บคอ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • สำลัก ขย้อนเมื่อกลืนอาหาร
  • เด็กปฏิเสธการกินอาหาร
  • เจ็บหน้าอก ปวดท้อง หรือรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในคอ
  • ไอ หายใจลำบาก หายใจเสียงดังหวีด

ทั้งนี้ หากวัตถุนั้น ๆ ติดอยู่ในลำคอเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเกิดการติดเชื้อได้ เช่น ปอดบวมจากการสำลัก เป็นเหตุให้มีอาการเจ็บหน้าอก มีเสมหะ ไอ หายใจเสียงดังหวีด หรือมีไข้ตามมา

การปฐมพยาบาลเมื่อวัตถุแปลกปลอมหรือก้างติดคอ

วัตถุแปลกปลอมที่เผลอกลืนเข้าไปมักผ่านระบบทางเดินอาหารและถูกกำจัดออกจากร่างกายพร้อมกับอุจจาระ ทว่าวัตถุบางอย่างอาจเคลื่อนผ่านไปไม่ได้และติดอยู่ที่หลอดอาหารบริเวณลำคอ จนทำให้เกิดบาดแผลตามมา เช่น ก้างปลา กระดูก เป็นต้น ดังนั้น แม้จะรู้สึกว่าวัตถุดังกล่าวเคลื่อนไปสู่ท้องแล้วก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีแผลจากการกลืนหรือไม่ รวมทั้งในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่บริเวณลำคอหรือคาดว่ายังอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะวัตถุปลายแหลมที่อาจทำให้ผนังหลอดอาหารบาดเจ็บมากกว่าเดิม และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากเผลอกลืนถ่านนาฬิกาหรือแบตเตอรี่ก้อนเล็ก ๆ ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบเสียหายได้

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีวัตถุแปลกปลอมหรือก้างติดคอ หากทำได้ ผู้ป่วยควรพยายามไอเอาวัตถุนั้น ๆ ออกมา บางคนที่มีก้างติดคอนิยมใช้วิธีดื่มน้ำเยอะ ๆ กลืนข้าว ข้าวเหนียว กล้วย มาร์ชเมลโล่ หรืออาหารชนิดใดก็ตามที่อาจช่วยดันให้ก้างหลุดออกจากบริเวณคอไปยังกระเพาะ ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ได้ผล ทางที่ดีจึงควรไปพบแพทย์ให้ช่วยคีบออก เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเกิดบาดแผลหรือการติดเชื้อตามมา

ในกรณีที่เผลอกลืนวัตถุจนเกิดการสำลักหรือวัตถุดังกล่าวไปปิดทางเดินหายใจจนหายใจลำบากหรือไม่สามารถพูดคุยได้ตามปกติ ควรปฏิบัติตามหลักปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  • ยืนหลังผู้ที่มีอาการสำลัก หากเป็นเด็กให้นั่งคุกเข่าลงหลังเด็ก ใช้แขนข้างหนึ่งวางรองที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อพยุง แล้วจับผู้ป่วยโน้มตัวไปข้างหน้าจนถึงระดับเอว ให้ลำตัวส่วนบนขนานกับพื้น ทำติดต่อกัน 5 ครั้ง สลับกับใช้ฝ่ามือตบหลังบริเวณระหว่างกระดูกสะบัก
  • อยู่หลังผู้ป่วยเหมือนเดิม กำมือข้างที่ถนัดไว้บริเวณท้องเหนือสะดือของผู้ป่วยเล็กน้อย แล้วใช้มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ ดึงกระแทกมือเข้ามาอย่างเร็วเหมือนยกตัวผู้ป่วยขึ้น เพื่อช่วยให้สิ่งที่ติดคอผู้ป่วยหลุดออกมา ทำเช่นนี้ 5 ครั้ง ส่วนคนท้องและคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจะแนะนำให้ระดับกำปั้นอยู่เหนือขึ้นมาบริเวณหน้าอก
  • ตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับกระแทกหน้าอกด้วยกำปั้นดังวิธีข้างต้น 5 ครั้ง ทำจนกว่าเศษอาหารหรือวัตถุแปลกปลอมจะหลุดออกจากคอหรือหายใจได้สะดวกขึ้น

หลังการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ควรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หากมีบุคคลอื่นอยู่ด้วย ให้แจ้งตั้งแต่เริ่มมีอาการ ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ควรจัดท่าให้นอนหงายบนพื้น หากมองเห็นวัตถุภายในปากให้ใช้นิ้วมือหยิบออกมาอย่างระวัง อย่าเผลอดันให้วัตถุเข้าไปลึกกว่าเดิม หากยังมีวัตถุติดอยู่และผู้ป่วยไม่ตอบสนองใด ๆ ให้ทำการปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต

สำหรับผู้ป่วยที่สำลักเนื่องจากมีวัตถุแปลกปลอมติดคอที่อยู่ตามลำพัง ควรโทรเรียกรถพยาบาลทันที รวมทั้งปฐมพยาบาลให้ตนเองในเบื้องต้นด้วยการใช้กำปั้นทุบท้อง โดยวางกำปั้นเหนือสะดือเล็กน้อย ใช้มืออีกข้างกุมกำปั้นไว้แล้วโน้มตัวลงไปข้างหน้า และผลักกำปั้นเข้าหาหน้าอกในแนวเอียงขึ้นบน

การตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เมื่อมีก้างติดคอ

แพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยตรวจดูคอ หน้าอก และท้อง ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากลืนวัตถุใดลงไป กลืนไปนานแล้วหรือยัง จากนั้นอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์หรือทำ CT Scan บริเวณหลอดอาหารและท้องร่วมกับกลืนสารที่ช่วยให้เห็นวัตถุที่กลืนลงไปชัดเจนยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยแพ้สารดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หรืออาจสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางปากเพื่อส่องดูบริเวณคอหอยและหลอดอาหาร หากวัตถุดังกล่าวเป็นโลหะอาจใช้เครื่องตรวจจับโลหะเพื่อระบุตำแหน่งร่วมด้วย

การรักษาทางการแพทย์เมื่อมีก้างติดคอ

แพทย์อาจเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยวัตถุส่วนใหญ่จะเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารและถูกกำจัดออกจากร่างกายด้วยการขับถ่ายได้เองภายใน 7-10 วัน ระหว่างนี้อาจต้องเข้ารับการเอกซเรย์เป็นระยะเพื่อดูว่าวัตถุนั้นยังติดค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่ กรณีที่มีอาการเจ็บเนื่องจากวัตถุมีขนาดใหญ่หรือแหลม แพทย์จะคีบออกมาจากคอหากมองเห็นเมื่ออ้าปาก แต่หากอยู่ลึกลงไปอาจต้องใช้เครื่องมือบางชนิดช่วย เช่น การส่องกล้องเพื่อช่วยให้มองเห็นตำแหน่งที่แน่ชัดและใช้ที่คีบคีบออกมา

หากเป็นวัตถุที่สามารถเคลื่อนเข้าสู่ระบบย่อยอาหารได้ง่าย แพทย์อาจใส่ท่อบาง ๆ ขยายทางเดินอาหารและใช้อุปกรณ์ดันวัตถุเข้าไปยังท้อง หรืออาจใช้ท่อสายสวนหลอดเลือดชนิดมีบอลลูนใส่เข้าไปจนคาดว่าเลยตำแหน่งที่มีวัตถุอุดกั้น แล้วทำให้ปลายท่อพองออก จากนั้นจึงดึงสายท่อขึ้นมาเพื่อให้วัตถุติดมาด้วย แต่จะใช้วิธีนี้เมื่อวัตถุแปลกปลอมมีขอบเรียบและไม่แหลมคมเท่านั้น หากวิธีเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผลหรือวัตถุมีปลายแหลม อาจต้องใช้การผ่าตัดเล็กโดยใช้กล้องขนาดเล็กนำทาง เพื่อนำวัตถุดังกล่าวออกมา