ขนคุดที่ขาเป็นอาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อยในคนทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก็อาจส่งผลต่อความมั่นใจในการเลือกใส่เสื้อผ้า เพราะขนคุดอาจทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียนสวยงาม อย่างไรก็ตาม ขนคุดที่ขาสามารถรักษาได้ ทั้งด้วยการดูแลตัวเอง และการรักษาจากแพทย์
ขนคุดที่ขาจะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่เจ็บเกิดขึ้นบนผิวหนังเป็นหย่อม ๆ ร่วมกับมีผิวหนังหยาบหรือแห้งกร้าน สาเหตุของการเกิดขนคุดมักมาจากการจำกัดขนโดยการโกน ทำให้ขนที่ขึ้นใหม่อุดตันในรูขุมขนและเกิดเป็นขนคุดตามมา นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดขนคุดยังอาจเกี่ยวข้องกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือในผู้ที่มีผมหยิกอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม
รับมือกับขนคุดที่ขาอย่างไรให้เหมาะสม
ขนคุดที่ขาไม่เป็นอันตรายและไม่ทำให้เกิดปัญหาผิวหนังในระยะยาว อีกทั้งในบางกรณีขนคุดที่ขาอาจลดน้อยลงหรือหายไปเองเมื่อคุณอายุประมาณ 30 ปี จึงอาจไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาก็ได้ แต่หากขนคุดที่ขาส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ผู้ที่มีปัญหาขนคุดที่ขาอาจเลือกรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การรักษาขนคุดขาที่ด้วยตัวเอง
การรักษาขนคุดขาที่ด้วยตัวเองอาจไม่สามารถทำให้ขนคุดหายไปอย่างถาวร แต่เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผิวหนังดูสุขภาพดีขึ้น รวมถึงอาจช่วยลดตุ่มนูนจากขนคุดที่ทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียนและสม่ำเสมอด้วย การรักษาขนคุดขาที่ด้วยตัวเองมีวิธีการดังนี้
ขัดผิวเบา ๆ ด้วยใยบวบ
การขัดผิวหรือสครับผิวเบา ๆ ด้วยใยบวบจะช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว รวมถึงขจัดเคราตินที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน และช่วยทำให้อาการขนคุดที่ขาดีขึ้นได้ แต่การขัดผิวจะต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคืองและส่งผลให้อาการขนคุดแย่ลงมากกว่าเดิม
การขัดผิวสามารถทำได้โดยการใช้เบคกิ้งโซดา (Baking Soda) 2 ช้อนชา ผสมกับน้ำอุ่นในปริมาณเล็กน้อย แล้วนำมาขัดวนเบา ๆ เป็นวงกลมที่ผิวหนังบริเวณขาประมาณ 5 นาที จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ขัดผิวที่มีส่วนผสมของกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดแลคติก (Lactic Acid) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ก็ได้เช่นกัน
ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
ผิวที่แห้งอาจทำให้อาการขนคุดที่ขาแย่ลงได้ จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทุกครั้งหลังจากอาบน้ำเสร็จ โดยเมื่ออาบน้ำเสร็จให้ใช้ผ้าเช็ดตัวซับผิวเบา ๆ แค่ให้พอหมาด จากนั้นทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) เพื่อช่วยคงความชุ่มชื้นให้กับผิว และอาจช่วยให้รอยตุ่มนูนของขนคุดดูเรียบเนียนมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ อาจใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในการบำรุงผิวหนัง เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์โดยธรรมชาติ อีกทั้งยังอาจมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการอักเสบ และช่วยลดการเปลี่ยนสีของผิวหนังที่เกิดขนคุดด้วย
ใช้น้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยรักษาอาการรูขุมขนอักเสบและการเกิดขนคุดที่ขาได้ เช่น น้ำมันอบเชย น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันทีทรี (Tea Tree Oil) แต่การใช้น้ำมันหอมระเหยควรผสมกับน้ำมันตัวพาชนิดอื่น ๆ ให้เจือจางก่อน ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไปและไม่ควรโดนผิวหนังโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
ประคบผิวหนังด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น
การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบผิวหนังหรือการอาบน้ำอุ่นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยรักษาขนคุดที่ขาได้ เพราะการประคบด้วยน้ำอุ่นสามารถช่วยให้ตุ่มนูนบนผิวหนังที่เกิดจากขนคุดเล็กลง และทำให้ผิวหนังดูเรียบเนียนขึ้นได้ รวมถึงหากในกรณีที่มีอาการรูขุมขนอักเสบ มีหนอง หรือมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น การประคบด้วยน้ำอุ่นก็สามารถช่วยลดอาการอักเสบและอาการเจ็บปวดด้วยเช่นกัน
ดูแลผิวหนังให้ถูกวิธี
การดูแลผิวอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผิวหนังสุขภาพดีขึ้น และช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง รวมถึงอาการขนคุดที่ขาด้วย การดูแลผิวหนังอย่างถูกวิธีไม่ได้มีเพียงแค่การขัดผิว การใช้ครีมบำรุงผิว หรือการดื่มน้ำเท่านั้น แต่ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียดสีของผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส บีบ หรือแกะผิวหนังที่เกิดขนคุด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้
- ใช้สบู่อาบน้ำและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรอ่อนโยนต่อผิวหนัง เพื่อไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง
- ใช้น้ำอุ่นในการอาบน้ำ เนื่องจากน้ำอุ่นอาจช่วยลดอาการรูขุมขนอุดตันได้ แต่ไม่ควรอาบน้ำที่ร้อนจนเกินไป และควรใช้เวลาในการอาบน้ำแค่ประมาณ 10–15 นาทีเท่านั้น เพราะการอาบน้ำร้อนหรือการอาบน้ำเป็นเวลานานสามารถทำให้ผิวแห้งได้
2. การรักษาขนคุดที่ขาด้วยวิธีการทางการแพทย์
แม้ว่าขนคุดที่ขาจะเป็นอาการทางผิวหนังทั่วไปที่ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและสามารถดูแลรักษาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีวิธีการรักษาโดยแพทย์สำหรับผู้ที่ต้องการจำกัดขนคุดให้อยู่หมัดเช่นกัน การรักษาขนคุดที่ขาด้วยวิธีการทางการแพทย์ มีดังนี้
การรักษาด้วยครีมยา
ครีมยาที่ใช้ในการรักษาขนคุดที่ขา เช่น ยาทาในกลุ่มกรดวิตามินเอ (Topical Retinoids) ยูเรียครีม (Urea Cream) รวมถึงครีมยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids: AHA) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือกรดไกลโคลิค (Glycolic Acid) โดยตัวยาจะช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยทำให้ผิวที่แห้งเนียนนุ่มมากขึ้น และอาจช่วยรักษาขนคุดที่ขาได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ครีมยาเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับเด็ก เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการอักเสบหรือระคายเคือง รวมถึงควรใช้ครีมยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนังตามมา
การรักษาด้วยการเลเซอร์ (Laser)
การรักษาด้วยเลเซอร์เป็นวิธีการรักษาขนคุดที่ขารูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากการเลเซอร์อาจมีประสิทธิภาพในระยะยาวมากกว่าการใช้ครีมทาเฉพาะที่ โดยการเลเซอร์จะช่วยลดการเปลี่ยนสีของผิวหนังที่เกิดจากขนคุด และอาจช่วยลดตุ่มนูนบนผิวหนังที่เกิดจากขนคุดด้วย แต่การเลเซอร์มีข้อจำกัดและควรระวังหลายประการ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม หากเกิดขนคุดที่ขาขึ้น คุณไม่ควรบีบหรือแกะตุ่มนูนที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ไม่ควรขัดหรือสครับผิวหนังอย่างรุนแรง รวมถึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่ได้รับการรองรับจากองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิวหนังที่รุนแรงตามมา นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นบนผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม