ขนคุดที่แขน เป็นอาการผิดปกติทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยลักษณะอาการเด่น ๆ ที่มักพบคือ ตุ่มขนาดเล็กที่มีสีผิดไปจากสีผิวของผิวหนังขึ้นตามบริเวณรูขุมขน ซึ่งอาการจะยิ่งแย่ลงขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศแห้ง นอกจากนี้ ในบางคนยังอาจพบอาการทางผิวหนังอื่นร่วมด้วย เช่น คันผิว ผิวแห้ง และผิวหยาบกร้าน
ขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นอาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นจากการสะสมของเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันผิวหนังจากสารอันตรายต่าง ๆ และการติดเชื้อโรค โดยเมื่อเคราตินสะสมมากผิดปกติ รูขุมขนก็เกิดการอุดตันตามมาและนำไปสู่อาการอย่างที่ผู้ป่วยมักพบ อย่างรอยตุ่มขนาดเล็ก หรือผิวแห้งหยาบ
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ขนคุดเป็นปัญหาผิวที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันได้ แต่ในทางการแพทย์แล้ว อาการนี้ถือเป็นอาการที่ไม่รุนแรง และมักจะหายไปได้เองเมื่อผู้ที่ป่วยเริ่มอายุมากขึ้น หรือประมาณ 30 ปีขึ้นไป อีกทั้งยังสามารถบรรเทาได้ด้วยหลากหลายวิธี ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาได้จากในบทความนี้
7 วิธีรับมือกับขนคุดที่แขน
สำหรับผู้ที่มีปัญหาขนคุดที่แขน อาจลองศึกษาวิธีรับมือได้จากวิธีดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนและการอาบน้ำที่นานเกินไป
การอาบน้ำร้อน โดยเฉพาะเมื่อใช้เวลาอาบนาน ๆ อาจส่งผลให้น้ำมันธรรมชาติที่อยู่บนผิวหนังถูกขจัดออกไปจนหมด ซึ่งอาจนำไปสู่อาการผิวแห้งตามมาได้ โดยผู้ที่มีปัญหาขนคุดที่แขนควรจะเลือกใช้เป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องแทน และจำกัดเวลาอาบน้ำให้ไม่เกินประมาณ 10 นาที
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีสารช่วยให้ผิวแห้ง และการขัดถูผิวอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถูสบู่ หรือการใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวอย่างรุนแรง แต่ควรค่อย ๆ ซับน้ำออกเบา ๆ หลังจากอาบน้ำเสร็จแทน เนื่องจากผิวที่ถูกขัดถูอย่างรุนแรงอาจเกิดการระคายเคือง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขนคุดที่รุนแรงขึ้นได้
2. ใช้ครีมที่มีส่วนผสมช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
ผู้ที่มีปัญหาขนคุดที่แขน ควรมองหาครีมทาผิวที่มีส่วนผสมช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อย่างยูเรีย (Urea) กรดแลคติก (Lactic Acid) เอเอชเอ (Alpha Hydroxy Acid: AHA) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากส่วนผสมเหล่านี้อาจส่งผลให้บางคนเกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ได้
3. ทาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
หลังจากอาบน้ำเสร็จทุกครั้ง ผู้ที่มีปัญหาขนคุดที่แขนควรทาผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว หรือมอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการผิวแห้งและกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิว อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่น
4. ขัดผิว
การใช้ฟองน้ำขัดผิว หรือใยบวบ เป็นหนึ่งในวิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการขนคุดที่แขนได้ โดยให้ขัดเป็นแนววงกลมบริเวณที่มีอาการขณะที่กำลังอาบน้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการขัดผิวเพื่อบรรเทาอาการขนคุดที่แขนควรหลีกเลี่ยงการขัดถูอย่างรุนแรง และที่สำคัญ ไม่ควรขัดผิวบ่อยจนเกินไป เนื่องจากการขัดผิวอย่างรุนแรงและบ่อยเกินไปอาจส่งผลให้อาการยิ่งแย่ลงได้
5. ใช้เครื่องทำความชื้น
สำหรับผู้ที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศแห้งบ่อย ๆ อย่างผู้ที่ต้องอยู่ในห้องแอร์ การใช้เครื่องทำความชื้นก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่อาจช่วยได้ เนื่องจากเครื่องทำความชื้นจะช่วยเพิ่มระดับความชื้นในอากาศ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดอาการผิวแห้งและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้
6. ไปพบแพทย์
สำหรับผู้ที่ลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วแต่ยังพบว่าปัญหาขนคุดที่แขนยังไม่ดีขึ้น อาจจะลองหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม
โดยวิธีการรักษาทางการแพทย์ก็จะมีอยู่หลายวิธี ซึ่งวิธีที่แพทย์มักใช้ก็เช่น อาจแนะนำวิธีการรักษาที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวของผู้ป่วยเพื่อลดอาการคันผิวหนัง ผิวแห้ง และรอยจากขนคุด หรืออาจจะใช้ยาทาบางชนิดเพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
หรือในบางกรณี แพทย์อาจจะแนะนำวิธีอื่น ๆ เช่น การขัดผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion) การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels) หรือการใช้เลเซอร์รักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีรักษาตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วย
ทั้งนี้ นอกจากวิธีในข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการรับมือกับปัญหาขนคุดที่แขนก็คือ การหลีกเลี่ยงการแกะเการอยขนคุด เนื่องจากการแกะเการอยขนคุดอาจนำไปสู่อาการระคายเคืองของผิว หรืออาการขนคุดที่แย่ลงได้
แม้ปัญหาขนคุดที่แขนจะไม่ใช่อาการทางผิวหนังที่รุนแรง แต่ลักษณะอาการของภาวะขนคุดก็ถือเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อรา ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาขนคุดที่แขนที่พบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ