ขนมปังโฮลวีทมีประโยชน์มากกว่าขนมปังขาวหรือไม่

ขนมปังโฮลวีท คือ ขนมปังที่ทำมาจากเมล็ดข้าวสาลีทั้งเมล็ด ส่วนขนมปังธัญพืช (Whole Grain Bread) หมายถึง ขนมปังที่ทำมาจากเมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี หรือธัญพืชไม่ขัดสีชนิดต่าง ๆ รวมกัน ต่างจากขนมปังวีท (Wheat Bread) หรือมัลติเกรน (Multi Grain) ซึ่งอาจทำมาจากธัญพืชที่ผ่านการขัดสีบางส่วน

ขนมปังโฮลวีท

เดิมทีผู้คนมักรับประทานขนมปังขาวก่อนจะเปลี่ยนมารับประทานขนมปังโฮลวีทกันมากขึ้น เนื่องจากขนมปังโฮลวีททำมาจากเมล็ดข้าวสาลีทั้งเมล็ด ซึ่งอุดมไปด้วยไฟเบอร์และสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินอี วิตามินบี หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ต่างจากขนมปังขาวที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ทำให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ น้อยกว่า โดยผู้คนเชื่อว่าร่างกายจะได้รับประโยชน์จากขนมปังโฮลวีทมากกว่าขนมปังขาว งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาประเด็นนี้พอสมควรซึ่งจะกล่าวต่อไป

ขนมปังโฮลวีทดีกว่าขนมปังขาวจริงหรือ

ขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาวผ่านกระบวนการผลิตที่ต่างกัน ผู้คนจึงนิยมบริโภคขนมปังโฮลวีทมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าขนมปังโฮลวีทมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าขนมปังขาว เนื่องจากขนมปังขาวผ่านการแปรรูปและขัดสี ทำให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ไม่เท่ากับขนมปังโฮลวีท โดยขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาวมีคุณค่าทางโภชนาการและคุณประโยชน์ที่ส่งผลต่อร่างกาย ดังจะกล่าวในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  • คุณค่าทางอาหารของขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาว ขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาวแบบแผ่นน้ำหนัก 25 กรัม มีสารอาหารสำคัญที่แตกต่างกัน ดังนี้
    • ขนมปังโฮลวีท
      • แคลอรี่ 76 กิโลแคลอรี่
      • ไขมันทั้งหมด 1.02 กรัม
      • น้ำตาล 1.44 กรัม
      • ไฟเบอร์ 1.9 กรัม
      • โซเดียม 141 มิลลิกรัม
      • คาร์โบไฮเดรต 12.79 กรัม
    • ขนมปังขาว
      • แคลอรี่ 66 กิโลแคลอรี่
      • ไขมันทั้งหมด 0.83 กรัม
      • น้ำตาล 1.42 กรัม
      • ไฟเบอร์ 0.7 กรัม
      • โซเดียม 122 มิลลิกรัม
      • คาร์โบไฮเดรต 12.36 กรัม
  • ดัชนีน้ำตาลของขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาวที่ส่งผลต่อสุขภาพ ดัชนีน้ำตาล (Glycaemic Index: GI) คือ ค่าแสดงระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารแต่ละอย่างเนื่องจากอาหารแต่ละอย่างมีคาร์โบไฮเดรตต่างชนิดกัน ส่งผลให้ร่างกายย่อยอาหารเหล่านั้นและเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว อาหารหรือเครื่องดื่มที่ย่อยและเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดทันทีจัดเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ส่วนอาหารหรือเครื่องดื่มที่ย่อยและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้า จัดเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงไม่ใช่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเสมอไป เช่นเดียวกับอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำทุกชนิดก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพ การเลือกบริโภคอาหารสำหรับสุขภาพจึงไม่ควรยึดค่าดัชนีน้ำตาลเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้คนรับประทานอาหารหลายอย่างควบคู่กัน ไม่ได้บริโภคอาหารอย่างเดียวในแต่ละวัน ควรเลือกอาหารที่มีดัชนีน้ำตาล ไขมัน และแคลอรี่ต่ำ ในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ประกอบด้วยอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำมีหลายอย่าง ได้แก่ เมล็ดถั่ว มันหวาน ผลไม้ต่าง ๆ หรือขนมปังและซีเรียลจากธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีทมีดัชนีน้ำตาลปานกลาง (ประมาณ  56- 69) ส่วนขนมปังขาวมีดัชนีน้ำตาลสูง (ประมาณ 70 หรือมากกว่านั้น) ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อระดับดัชนีน้ำตาลในอาหาร ซึ่งไขมันและไฟเบอร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดดัชนีน้ำตาลของอาหารได้
  • คุณประโยชน์ของขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาว ปัจจุบันผู้คนนิยมบริโภคขนมปังโฮลวีทมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามีประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาว เพื่อดูว่าขนมปังทั้งสองชนิดส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร อีกทั้งขนมปังโฮลวีทมีประโยชน์มากกว่าขนมปังขาวอย่างที่หลายคนเชื่อหรือไม่ โดยงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ระบุผลต่าง ๆ ดังนี้
    • ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึม คาร์โบไฮเดรตคือสารอาหารหลักและเป็นแหล่งพลังงานแรกของร่างกาย ประกอบด้วยไฟเบอร์ แป้ง และน้ำตาล โดยไฟเบอร์และแป้งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ส่วนน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ผู้คนมักเชื่อกันว่าการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนดีกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ทำให้รู้สึกอิ่มนาน เนื่องจากอุดมไปด้วยไฟเบอร์ทำให้ร่างกายย่อยช้าลง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร ความเชื่อนี้สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แนะนำว่าการบริโภคขนมปังธัญพืชไม่ขัดสีอาจกระตุ้นอาการอยากอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยงานวิจัยชิ้นนี้เปรียบเทียบประโยชน์ของขนมปังที่ผ่านการแปรรูปกับขนมปังธัญพืชไม่ขัดสีที่ส่งผลต่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร พลังงานที่ได้รับ และฮอร์โมนที่ส่งผลต่อความอยากอาหาร โดยดำเนินการทดลองเป็นเวลา 2 วัน ผู้เข้าร่วมการทดลองซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 11 แห่ง จะรับประทานขนมปังแปรรูปและขนมปังธัญพืชไม่ขัดสีในช่วงมื้อเช้าแต่ละวันและรับประทานอาหารกลางวันตามต้องการ ผลการวิเคราะห์ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อความอยากอาหารพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกอิ่มนานขึ้น ทำให้รับประทานอย่างอื่นได้น้อยลงหลังจากรับประทานขนมปังโฮลวีทในมื้อเช้า

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการบริโภคขนมปังโฮลวีทหรือขนมปังขาวไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยแบ่งผู้เข้าร่วมทดลองจำนวน 20 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานขนมปังธัญพืชที่ทำจากแป้งหมัก กลุ่มที่ 2 รับประทานขนมปังขาวที่ผ่านกระบวนการแปรรูป การทดลองใช้เวลา 1 สัปดาห์ พบว่าการรับประทานขนมปังธัญพืชหรือขนมปังแปรรูปไม่ได้ส่งผลต่อประโยชน์ทางสุขภาพที่ต่างกัน โดยผู้เข้าร่วมการทดลองมีระดับแร่ธาตุบางตัวในเลือดลดลง และระดับเอนไซม์ที่แสดงการทำลายเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำงานของตับ ไต การอักเสบของร่างกาย และระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้เข้าร่วมการทดลองดีขึ้น ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานขนมปังแต่ละแบบของผู้เข้าร่วมการทดลองนั้น จะแตกต่างกันไปตามปัจจัยของผู้บริโภคแต่ละรายอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ร่างกายจะได้รับประโยชน์จากขนมปังธัญพืชหรือขนมปังขาวนั้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดขนมปังที่รับประทาน แต่ขึ้นอยู่กับจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ตอบสนองต่อขนมปังที่บริโภคเข้าไป  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมาซึ่งสำรวจพฤติกรรมการบริโภคขนมปังของคนจำนวน 900 คน ดังนั้น ประโยชน์ที่ได้รับจากการรับประทานขนมปังของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

  • ลดน้ำหนัก ธัญพืชไม่ขัดสีและขนมปังโฮลวีทนับเป็นแหล่งอาหารหลักของไฟเบอร์และแป้ง โดยสารอาหารทั้ง 2 ประเภทเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อีกทั้งไฟเบอร์ยังช่วยเสริมสร้างระบบขับถ่ายและควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ผู้คนจึงเชื่อว่าขนมปังโฮลวีทช่วยลดน้ำหนักและไขมันร่างกายได้ดีกว่าขนมปังขาว โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ที่ลดปริมาณขนมปังขาวและบริโภคแต่ขนมปังธัญพืชนั้น ลดน้ำหนักตัวและไขมันหน้าท้องได้ ผู้เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวต้องรับประทานขนมปัง เพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าการบริโภคขนมปังส่งผลต่อภาวะอ้วนและไขมันสะสมที่หน้าท้องหรือไม่ ผลการทดลองพบว่าการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนโดยลดขนมปังขาวเพียงอย่างเดียวนั้น ทำให้น้ำหนักและไขมันหน้าท้องลดลง อาจกล่าวได้ว่าส่วนประกอบของขนมปังธัญพืชและขนมปังขาวที่ต่างกันส่งผลต่อน้ำหนักตัวและไขมันหน้าท้องอย่างหลากหลาย อย่างไรก็ดี ควรกำหนดขอบเขตส่วนประกอบของขนมปังธัญพืชที่ใช้ให้ชัดเจน เพื่อนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการศึกษาวิจัยต่อไป

อย่างไรก็ตาม การรับประทานขนมปังขาวอาจช่วยให้ลดน้ำหนักได้ไม่ต่างจากการรับประทานขนมปังที่ไม่ผ่านการแปรรูป โดยมีงานวิจัยบางชิ้นที่สนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว งานวิจัยนี้ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคไฟเบอร์ที่ส่งผลต่อภาวะอ้วน โดยให้นักเรียนและนักศึกษาชายชาวโปแลนด์จำนวน 1,233 ราย ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการรับประทานผัก ผลไม้ และไฟเบอร์อื่น ๆ รวมทั้งวัดดัชนีมวลกายและส่วนสูง พบว่าผู้ที่รับประทานขนมปังขาวทุกวันมีแนวโน้มประสบภาวะอ้วนลดลง คิดเป็นร้อยละ 28-31 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานขนมปังขาวทุกวัน อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มประสบภาวะอ้วนที่ลดลงนั้้นเกี่ยวเนื่องกับความถี่ในการบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำอย่างขนมปังขาว  

  • เสริมสร้างสุขภาพด้านอื่น อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่างกันย่อมส่งผลต่อภาวะสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลให้เหมาะสม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล ความดันโลหิต และน้ำหนักตัว ผู้คนจึงเลือกรับประทานขนมปังโฮลวีทมากกว่าขนมปังขาว เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาประเด็นนี้อย่างแพร่หลาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าการบริโภคขนมปังอย่างเดียวหรือขนมปังควบคู่กับข้าวในปริมาณมากส่งผลให้ระดับน้ำตาลหลังอดอาหารสูงขึ้น โดยให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 426 ราย เข้าร่วมการทดลอง และลองวัดสัดส่วนร่างกาย พร้อมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร คอเลสเตอรอลทั้งหมด ระดับไขมันไม่ดี และระดับไขมันดี พบว่าการบริโภคขนมปังเพียงอย่างเดียวหรือขนมปังควบคู่กับข้าวในปริมาณมากนั้นเกี่ยวเนื่องกับระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ส่วนผู้ที่รับประทานข้าวเพียงอย่างเดียวไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมทั้งไม่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพหัวใจและเมตาบอลิก โดยผลการวิจัยดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณาตัวแปรอื่นประกอบ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีน้ำตาล ค่าปริมาณน้ำตาล และกรรมวิธีในการผลิตขนมปังและข้าวที่ผู้ป่วยบริโภค

ขนมปังอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังกล่าวได้ โดยงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาวที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการบริโภคขนมปังโฮลวีทไม่ได้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีน้ำตาลในเลือดหรืออินซูลินทั้งระดับปกติและระดับสูงกว่าปกติเลือกรับประทานขนมปังธัญพืชโฮลวีทแบบหมักเองในปริมาณ 162.5 กรัม หรือรับประทานขนมปังขาวปริมาณ 168.8 กรัม เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับการวัดระดับความทนทานต่อน้ำตาลที่รับประทานเข้าไป (Oral Tolerance Glucose Test: OGTT) พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินสูงมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงหลังรับประทานขนมปังโฮลวีทเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินสูงแต่รับประทานขนมปังขาว โดยผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินปกตินั้นไม่ปรากฏความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือดหรืออินซูลินหลังรับประทานขนมปังโฮลวีทหรือขนมปังขาว

นอกจากนี้ ขนมปังขาวยับยั้งการกระตุ้นการเผาผลาญไขมันและลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ เนื่องจากขนมปังขาวจัดเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ประเด็นนี้ได้มีงานวิจัยศึกษาขึ้นมา เพื่อดูว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงหรือต่ำจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์หลังมื้ออาหารได้ดีหรือไม่

เดิมที ผู้คนเชื่อว่าการออกกำลังกายช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันได้ งานวิจัยนี้จึงลองเปลี่ยนให้ผู้เข้าร่วมทดลองที่ประสบภาวะอ้วนจำนวน 23 ราย รับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง หรือไม่รับประทานอาหารหลังเดินออกกำลังกายเป็นเวลา 90 นาที และให้ผู้เข้าร่วมทดลองอีกกลุ่มไม่ต้องออกกำลังกายและรับประทานอาหารใด ๆ จากนั้นจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนรับประทานอาหารไขมันสูงหลังอดอาหารตลอดคืนเป็นเวลา 10 ชั่วโมง รวมทั้งวัดการเผาผลาญไขมันและระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดก่อนและหลังรับประทานอาหารไขมันสูงผ่านไปแล้ว 6 ชั่วโมง ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่รับประทานอาหารหลังออกกำลังกายมีการเผาผลาญไขมันสูงกว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงหรือผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ส่วนผู้ที่รับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำมีการเผาผลาญไขมันดีกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเพียงกลุ่มเดียว ทั้งนี้ ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำหรือผู้ที่ไม่รับประทานอาหารหลังออกกำลังกายมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำกว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงหรือกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

อาจกล่าวได้ว่าการรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงหลังออกกำลังกายไม่ได้ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันและลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์เมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ต่างจากการบริโภคอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำหลังออกกำลังกายที่ช่วยให้ได้รับประโยชน์ดังกล่าวได้ดีกว่า

กินขนมปังโฮลวีทอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์

ขนมปังโฮลวีทและขนมปังขาวจัดเป็นอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งพลังงานในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือช่วยเสริมสร้างสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอาหารที่มีไฟเบอร์และแป้งสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวหรือขนมปังไม่ขัดสี เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก ผู้ที่ต้องการรับประทานขนมปังจึงอาจเลือกรับประทานขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาว เนื่องจากขนมปังโฮลวีท 1 แผ่น มีปริมาณไฟเบอร์ 2.5 กรัม ส่วนขนมปังขาว 1 แผ่น มีปริมาณไฟเบอร์ 0.9 กรัม รวมทั้งอาจรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์อื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ได้รับปริมาณไฟเบอร์ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตตามที่แพทย์แนะนำ รับประทานยารักษาปัญหาสุขภาพดังกล่าว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมทั้งรับประทานอาหารให้ครบหมู่อาหาร โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้และเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน เกลือ หรือน้ำตาลสูง ผู้ป่วยไม่ควรงดอาหารหมู่ใดหมู่หนึ่งหรือรับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยลง เนื่องจากยังไม่ปรากฏผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการบริโภคคาร์โบไฮเดรตในปริมาณน้อยจะช่วยควบคุมอาการป่วยของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในระยะยาว อีกทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอันเป็นผลข้างเคียงจากการบริโภคคาร์โบไฮเดรตน้อยลง