ขมิ้นกับสรรพคุณทางยา

ขมิ้นหรือขมิ้นชัน เป็นเครื่องเทศที่ใช้อย่างแพร่หลายในอาหารของประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะอาหารประเภทแกง ด้วยรสชาติและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ มีรสเผ็ดร้อน และขมเล็กน้อย จึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องปรุงรสหรือแต่งสีในผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ และสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย สำหรับส่วนที่เป็นเหง้าหรือรากของต้นนิยมใช้ทำเป็นยารักษาโรค เนื่องจากสารสำคัญสีเหลืองที่ชื่อว่า เคอร์คูมิน (Curcumin) ได้รับการกล่าวอ้างถึงฤทธิ์ในการรักษาและป้องกันโรคได้มากมายตั้งแต่อดีต เช่น โรคปวดข้อ ต้านการอักเสบในร่างกาย บรรเทาอาการท้องเสีย ยับยั้งการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรหรือเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori) ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดไขมันในเลือด การอักเสบของผิวหนัง ปวดศีรษะ เป็นต้น

ขมิ้น

จากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ได้แบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติจากขมิ้นอยู่ในระดับการรักษาที่อาจได้ผลและยังไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการระบุประสิทธิภาพ ซึ่งประโยชน์ต่อสุขภาพที่มีการค้นคว้าและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึง มีดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของขมิ้นที่อาจเป็นประโยชน์

ภาวะคอเลสเตอรอลสูง งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานขมิ้นหรืออาหารเสริมจากขมิ้นที่มีสารเคอร์คูมินในปริมาณที่เหมาะสมต่อวันอาจเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับไขมันรวมและเพิ่มระดับไขมันชนิดดีในเส้นเลือด จากการศึกษาประสิทธิภาพสารเคอร์คูมินต่อระดับไขมันรวม ไขมันชนิดไม่ดี ไขมันชนิดดี และไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 75 คน โดยให้รับประทานสารเคอร์คูมิน 3 ขนาด แบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวัน ได้แก่ ปริมาณน้อย 15 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณปานกลาง 30 มิลลิกรัมต่อวัน และปริมาณสูง 60 มิลลิกรัมต่อวัน ผลพบว่าการรับประทานสารเคอร์คูมินในปริมาณน้อยต่อวันช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีและไขมันรวมได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานสารเคอร์คูมินในปริมาณปานกลางและมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีสูงสุดเช่นกัน

ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาสารเคอร์คูมินต่อการลดระดับไขมันในผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง 65 คน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยได้ผลในทิศทางเดียวกัน ผู้ป่วยกลุ่มแรกรับประทานสารสกัดเคอร์คูมิน 630 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวันทั้ง 2 กลุ่ม นาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดเคอร์คูมินมีระดับไขมันชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ลดลง ส่วนไขมันชนิดดีเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือด

ผลการศึกษาบางส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่าการรับประทานสารเคอร์คูมินเป็นประจำอาจเป็นอีกวิธีช่วยลดระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง และโรคอื่น ๆ ทั้งนี้ กลุ่มการทดลองมีขนาดเล็ก จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาว

โรคข้อเสื่อม อีกคุณสมบัติทางยาของขมิ้นอาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากมีสารเคอร์คูมินที่มีฤทธิ์ต่อต้านกระบวนการอักเสบ โดยมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารเคอร์คูมินเปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคต่อการหลั่งเอนไซม์ Cyclooxygenase-2 (COX-2) ในน้ำไขข้อของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 80 คน กลุ่มแรกรับประทานสารเคอร์คูมิน วันละ 30 มิลลิกรัม และอีกกลุ่มรับประทานยาไดโคลฟีแนค วันละ 25 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 3 เวลาเช่นเดียวกันทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อครบ 4 สัปดาห์ จึงเจาะน้ำในข้อเข่าออกมาตรวจ เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรับประทาน ผลพบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสารเคอร์คูมินและยาไดโคลฟีแนคในการยับยั้งการหลั่ง COX-2 ซึ่งเป็นเอมไซม์ที่หลั่งเมื่อเกิดการอักเสบ ปวด และบวม จึงเชื่อว่าสารเคอร์คูมินอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้ดีเช่นเดียวกับยา  

อย่างไรก็ตาม มีรายงานบางชิ้นพบผลข้างเคียงเล็กน้อยจากขมิ้น เช่น การศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อการใช้สารสกัดจากขมิ้นเปรียบเทียบกับยาไอบูโปรเฟนในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม จำนวน 367 คน เพื่อดูอาการปวดและสมรรถภาพการใช้งานข้อเข่า ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มแรกรับประทานสารสกัดจากขมิ้น 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มรับประทานยาไอบูโปรเฟน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงวัดผลด้วยแบบประเมินวัดอาการปวด ผลพบว่า สารสกัดจากขมิ้นมีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาไอบูโปรเฟนในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม และพบผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหารเล็กน้อยโดยน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยา จึงอาจต้องมีการศึกษาผลกระทบของการรับประทานขมิ้นต่อร่างกายในระยะยาว

อาการคัน ขมิ้นมีสารเคอร์คูมินที่เชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการยับยั้งกระบวนการอักเสบภายในร่างกาย จึงอาจช่วยลดอาการคันในผู้ป่วยบางโรคได้ โดยมีงานวิจัยถึงประสิทธิภาพของขมิ้นต่ออาการคันเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 100 คน ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานขมิ้นมีอาการคันลดลงกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และยังไม่พบผลข้างเคียงทั้ง 2 กลุ่ม จึงคาดว่าขมิ้นมีส่วนช่วยลดอาการคันในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง แต่ยังไม่สามารถยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขมิ้นต่อร่างกายในระยะยาวได้แน่ชัด

นอกจากนี้ การศึกษาอีกชิ้นเรื่องคุณสมบัติของสารเคอร์คูมินด้านการต้านอักเสบในผู้ป่วยผื่นผิวหนังจากสารซัลเฟอร์ มัสตาร์ด เพศชาย 69 คน อายุ 37-59 ปี โดยทดลองทาสารสกัดจากเคอร์คูมิน 1 กรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับยาหลอก ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อดูความรุนแรงของอาการคันเรื้อรังและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผลพบว่า ฤทธิ์ต้านการอักเสบของเคอร์คูมินในขมิ้นช่วยยับยั้งสารในกระบวนการอักเสบบางชนิดได้มากกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก แต่ไม่พบความแตกต่างในคุณสมบัติด้านการลดอาการคันตามผิวหนังของทั้ง 2 กลุ่ม ทำให้ต้องศึกษาสารเคอร์คูมินเพิ่มเติมในด้านการลดอาการคันและวิธีปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว รวมทั้งข้อจำกัดด้วยขนาดกลุ่มทดลองขนาดเล็กและระยะเวลาติดตามผลสั้น  

โรคอัลไซเมอร์ การศึกษาคุณสมบัติของขมิ้นต่อการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ยังมีอยู่จำกัดในปัจจุบัน แต่ผลการวิจัยบางส่วนแสดงให้เห็นว่าขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคนี้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จำนวน 3 ราย ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอาการสมองเสื่อมอย่างรุนแรงรับประทานสารสกัดจากขมิ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ จากนั้นจึงวัดผลด้วยแบบประเมินอาการ ผลพบว่า มีผู้ป่วยเพียงรายเดียวที่ได้คะแนนสูงขึ้นในการทดสอบความจำเมื่อเทียบกับผลก่อนการทดลอง ในขณะที่ผู้ป่วยอีก 2 คน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากการทำแบบประเมิน แต่สามารถจดจำบุคคลในครอบครัวเมื่อผ่านไป 1 ปี นอกจากนี้ ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ไม่มีอาการในลักษณะเดิมเมื่อรับประทานสารสกัดจากขมิ้นมากกว่า 1 ปี งานวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและความจำเสื่อม อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยในการทดลองมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งต้องขยายผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อช่วยยืนยันประสิทธิภาพของการรักษา

ภาวะตาอักเสบ ด้วยสรรพคุณต้านการอักเสบของสารเคอร์คูมินในขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาภาวะตาอักเสบและโรคทางดวงตา แต่ก็ยังขาดผลการศึกษาระยะยาวในหลายส่วน เช่น งานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารเคอร์คูมินในผู้ป่วยโรคยูเวียอักเสบ 32 คน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยแบ่งให้กลุ่มแรกรับประทานเคอร์คูมิน 375 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และอีกกลุ่มรับประทานเคอร์คูมินควบคู่กับยารักษาวัณโรค หลังผ่านไป 2 สัปดาห์แรก พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดในกลุ่มแรกที่รับประทานขมิ้นมีอาการดีขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 มีอาการดีขึ้นประมาณ 86% นอกจากนี้ หลังติดตามผลระยะยาวในช่วง 3 ปีหลัง กลับพบว่าอัตราการกลับมาเป็นโรคและภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นของผู้ป่วยในกลุ่ม 1 สูงกว่ากลุ่มที่ 2 เล็กน้อย จึงยังไม่สามารถบอกประสิทธิภาพของขมิ้นในการรักษาภาวะตาอักเสบได้อย่างชัดเจน อีกทั้ง ข้อมูลด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงของขมิ้นยังมีอยู่จำกัด    

การศึกษาอีกชิ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเคอร์คูมินในรูปแบบไฟโตโซม (Curcumin Phosphatidylcholine Complex) ในผู้ป่วยโรคยูเวียอักเสบที่กลับมาเป็นซ้ำ 106 คน ในการทดลองแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มตามสาเหตุของโรค กลุ่มแรกเป็นยูเวียอักเสบจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง กลุ่มที่ 2 ยูเวียอักเสบจากการติดเชื้อ และกลุ่มที่ 3 ยูเวียอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารเคอร์คูมินในรูปแบบไฟโตโซมช่วยลดอาการไม่สบายตาและการมองเห็นมากกว่า 80% หลังเข้ารับการรักษาไม่กี่สัปดาห์ จึงเชื่อว่าสารเคอร์คูมินน่าจะมีบทบาทต่อการรักษาโรคทางดวงตาหรือสภาวะอื่น ๆ ของดวงตา เช่น ตาแห้ง โรคของจอตา โรคต้อหิน ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา เป็นต้น

อาการจุกเสียดท้อง สารเคอร์คูมินมักถูกอ้างถึงคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร และเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีงานวิจัยบางส่วนที่ค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเคอร์คูมินเปรียบเทียบกับยาตัวอื่นที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะในผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรและมีอาการจุกเสียดท้อง จำนวน 25 คน โดยให้รับประทานสารเคอร์คูมิน 30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรด้วยวิธีเป่าลมหายใจ ตรวจดูความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตรวจเลือด และตรวจหาสารภูมิต้านทานจากเชื้อเอชไพโลไร ผลพบว่าสารเคอร์คูมินช่วยลดอาการจุกเสียดท้องและลดการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่มีผลต่อการกำจัดเชื้อเอชไพโลไรในผู้ป่วย จึงยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอว่าขมิ้นช่วยได้จริงหรือไม่ และอาจต้องรอผลการศึกษาอื่นในอนาคต

ภาวะซึมเศร้า มีความเชื่อว่าสารเคอร์คูมินมีอิทธิพลต่อกลไกทางชีววิทยาหลายประการที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาภาวะนี้ จากการทดลองการใช้สารเคอร์คูมินในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า 56 คน โดยให้รับประทานเคอร์คูมิน 500 มิลลิกรัม รับประทาน 2 ครั้งต่อวัน เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับยาหลอก เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลในช่วงแรกพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีระดับคะแนนด้านอารมณ์ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4-8 กลับพบว่า กลุ่มที่รับประทานสารเคอร์คูมินมีระดับคะแนนด้านอารมณ์ที่ดีขึ้นมากกว่ายาหลอก ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจได้รับประโยชน์จากการใช้สารเคอร์คูมินในระยะเวลา 4-8 สัปดาห์หลังการเริ่มรักษา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ควรศึกษาเพิ่มเติม เช่น เพิ่มขนาดของกลุ่มทดลอง ทดสอบปริมาณของสารเคอร์คูมินที่แตกต่างกัน ติดตามผลการศึกษาในระยะเวลาที่นานขึ้น ดังนั้น จึงยากที่จะสรุปผลทันที

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ขมิ้นมีคุณสมบัติที่เชื่อว่าช่วยต่อต้านการอักเสบ จึงมีการศึกษานำร่องทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้สารเคอร์คูมินเปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เรื้อรัง 45 คน ในการทดลองแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานสารเคอร์คูมิน 500 มิลลิกรัมต่อวัน กลุ่มที่ 2 รับประทานยาไดโคลฟีแนค 50 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ 3 รับประทานสารเคอร์คูมินร่วมกับยาไดโคลฟีแนค จากนั้นจึงวัดผลด้วยแบบประเมิน 2 ชุด พบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มมีอาการของโรคดีขึ้น แต่กลุ่มที่รับประทานสารเคอร์คูมินมีผลคะแนนสูงสุด อีกทั้งยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการรับประทาน ขมิ้นจึงอาจมีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และข้ออักเสบชนิดอื่น ซึ่งยังต้องค้นคว้าเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

โรคเบาหวาน ผลจากการวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าสารเคอร์คูมินที่พบในขมิ้นอาจช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวานหรือป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของโรค จากการศึกษาสรรพคุณของขมิ้นต่อการป้องกันโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคเบาหวาน 240 คน เปรียบเทียบกับยาหลอก เป็นระยะเวลา 9 เดือน หลังจบการทดลองพบว่า กลุ่มที่รับประทานสารเคอร์คูมินตรวจไม่พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในขณะที่กลุ่มรับประทานยาหลอกวินิจฉัยพบโรคเบาหวานประมาณ 16.4% จึงเชื่อว่าสารเคอร์คูมินในขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวาน แต่ยังไม่มีการระบุประสิทธิภาพในการรักษาที่ชัดเจน ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานจึงไม่ควรรับประทานเพื่อวัตถุประสงค์โดยตรงแทนการไปพบแพทย์ จนกว่าจะมีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน

ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้นอย่างปลอดภัย

  • การรับประทานขมิ้นปริมาณปกติที่พบในอาหารหรือใช้กับผิวหนังค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 8 เดือน
  • การใช้ขมิ้นในรูปแบบอื่น ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาสวนล้างทวาร ควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อความปลอดภัย
  • โดยทั่วไปขมิ้นมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้หรือรับประทาน แต่ในบางรายอาจมีอาการท้องเสีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือปวดท้อง
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขมิ้นในปริมาณมากหรือเข้มข้นสูง (มากกว่า 1,500 มิลลิกรัมขึ้นไปต่อวัน) เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ แต่ยังไม่มีความชัดเจนถึงผลข้างเคียงนี้
  • สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานสารสกัดจากขมิ้นที่มีความเข้มข้นสูงหรือรับประทานขมิ้นในปริมาณมาก โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์    
  • ผู้ที่มีอาการของกรดไหลย้อน ควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจส่งผลให้อาการแย่ลงในบางคน
  • ขมิ้นอาจชะลอกระบวนการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติอาจเสี่ยงต่อการเกิดรอยช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย รวมถึงผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงรับประทานขมิ้นก่อนเข้ารับผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ผู้ที่เป็นนิ่วในท่อน้ำดีหรือมีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ควรหยุดใช้ขมิ้นรูปแบบต่าง ๆ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
  • สารเคอร์คูมินในขมิ้นอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงรับประทานอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงกว่าเดิม
  • ขมิ้นอาจลดระดับฮอร์โมนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิในน้ำเชื้อในผู้ชาย ผู้ชายที่ประสงค์จะมีบุตรควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง
  • การรับประทานขมิ้นในปริมาณสูงอาจลดป้องลดการดูดซึมธาตุเหล็ก ผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กจึงควรรับประทานอย่างระมัดระวัง