ขวดน้ำปล่อยสารอันตรายออกมาได้จริงหรือ ?

ขวดน้ำ เป็นของใกล้ตัวที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีหลายคนสงสัยถึงความปลอดภัยของขวดน้ำดื่มพลาสติก ว่าหากนำกลับมาใช้งานซ้ำ นำไปไว้ในช่องแช่แข็ง หรือทิ้งไว้ในรถที่จอดกลางแดดร้อนจัด อาจทำให้ขวดน้ำปล่อยสารอันตรายออกมาปนเปื้อนในน้ำดื่มและก่อให้เกิดอันตรายเมื่อนำมาบริโภคได้ แต่แท้จริงแล้วความเชื่อดังกล่าวนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ?

ขวดน้ำ

ขวดน้ำ อันตรายหรือไม่ ?

อันตรายจากขวดน้ำอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของพลาสติกที่ใช้ผลิต ซึ่งพลาสติกบางชนิดก็อาจปล่อยสารเคมีอันตรายอย่างสาร BPA (Bisphenol A) ที่ทำหน้าที่เลียนแบบฮอร์โมนเพศในร่างกาย และอาจรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ

พลาสติกที่นำมาผลิตขวดน้ำในไทยมี 5 ชนิด ได้แก่

  • พอลิเอทิลีน (PE)
  • พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET)
  • พอลิพรอพิลีน (PP)
  • พอลิคาร์บอเนต (PC)
  • พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC)

โดยขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกพอลิคาร์บอเนตและพอลิไวนิลคลอไรด์อาจปนเปื้อนสาร BPA ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการเลือกซื้อขวดน้ำเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขวดน้ำที่ทำจากวัสดุดังกล่าว หรือสังเกตได้จากเลข 3 หรือ 7 ที่พิมพ์อยู่บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงชนิดของพลาสติก

ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไว้ ดังนี้

  • ขวดน้ำอยู่ในสภาพปกติ ไม่ชำรุดเสียหาย
  • น้ำในขวดไม่มีตะกอนปะปนอยู่
  • ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีฉลากระบุข้อมูลต่าง ๆ และสถานที่ผลิตไว้อย่างชัดเจน
  • หากพบคราบดินโคลนหรือสิ่งสกปรกจากการขนส่งติดอยู่ภายนอกขวดน้ำ ควรเช็ดหรือล้างทำความสะอาดก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง

ทิ้งขวดน้ำพลาสติกในรถที่จอดตากแดด อันตรายหรือไม่ ?

หลายคนได้ยินกันมาว่าการทิ้งขวดน้ำไว้ในรถที่จอดตากแดดจะทำให้สารเคมีอันตรายอย่างไดออกซิน (Dioxin) ถูกปล่อยออกมาจากขวดน้ำ ซึ่งอาจปนเปื้อนในน้ำดื่มและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ แต่ความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นเพียงเรื่องที่ถูกบิดเบือนมาจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งเท่านั้น

โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทดลองนำตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกทั้ง 5 ชนิดที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดไปวางในรถยนต์ที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน ก่อนนำไปตรวจวิเคราะห์หาสารประกอบกลุ่มไดออกซิน โดยใช้เทคนิคและวัดปริมาณด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าไม่พบสารเคมีอันตรายใด ๆ ในขวดน้ำทั้งหมด

เติมน้ำร้อนในขวดน้ำ อันตรายหรือไม่ ?

ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาใดที่ระบุได้ชัดว่า การเติมน้ำร้อนในขวดพลาสติกแต่ละชนิดนั้นส่งผลเสียอย่างไร แต่การเติมน้ำร้อนซ้ำในขวดน้ำใช้แล้วที่ทำจากพลาสติกพอลิคาร์บอเนต อาจส่งผลให้ขวดน้ำปล่อยสาร BPA ออกมาได้ เนื่องจากมีงานวิจัยหนึ่งทดลองเทน้ำร้อนใส่ขวดน้ำพลาสติกพอลิคาร์บอเนตแล้วพบว่าขวดปล่อยสาร BPA ออกมามากกว่าถึง 55 เท่าเมื่อเทียบกับการเติมน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น

แช่ขวดน้ำพลาสติกในช่องแช่แข็ง อันตรายหรือไม่ ?

หลายคนเชื่อว่าการนำขวดน้ำไปไว้ในช่องแช่แข็งอาจทำให้ขวดปล่อยสารเคมีอันตรายอย่างไดออกซินออกมาได้ แต่ในความเป็นจริง การแช่แข็งขวดน้ำพลาสติกไม่ได้ทำให้ขวดน้ำปล่อยสารดังกล่าวออกมา ในทางกลับกัน อาจช่วยชะลอและป้องกันการปล่อยสารเคมีออกมาอีกด้วย

นำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อันตรายหรือไม่ ?

การนำขวดน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอาจไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด เนื่องจากมีการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่พบว่า สารเคมีจากขวดน้ำพลาสติกไม่ได้เกินค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากลซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการดื่มน้ำที่บรรจุในขวดน้ำพลาสติก ก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในขวดน้ำมากกว่า

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า แม้ขวดน้ำพลาสติกมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเพียงครั้งเดียว แต่ก็อาจนำมาใช้บรรจุซ้ำได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่ต้องทำความสะอาดขวดอย่างเหมาะสม

การทำความสะอาดขวดน้ำก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

วิธีทำความสะอาดขวดน้ำตามคำแนะนำของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนล้างขวด
  • เปิดฝาขวดน้ำและหงายฝาไว้บนบริเวณที่สะอาด
  • เช็ดหรือทำความสะอาดรอบปากขวดให้หมดจด
  • ล้างภายในขวดให้สะอาด
  • ทิ้งขวดน้ำไว้ให้แห้งก่อนนำมาใช้ซ้ำ

หลังบรรจุน้ำเรียบร้อยแล้ว ควรปิดฝาขวดน้ำให้มิดชิด และแยกเก็บกับภาชนะเก็บน้ำดื่มอื่น ๆ ให้เป็นสัดส่วน โดยเก็บให้ห่างจากสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อการบริโภคและทำให้น้ำปนเปื้อนได้ เช่น ห้องน้ำ หรือรางระบายน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากนำขวดน้ำมาใช้ซ้ำหลายครั้งหรือใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็ควรเปลี่ยนไปใช้ขวดใหม่แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยสังเกตขวดน้ำและควรเปลี่ยนไปใช้ขวดใหม่หากพบว่าขวดน้ำมีลักษณะ ดังนี้

  • สีของขวดเปลี่ยนไปจากเดิม หรือขุ่นมัวมากขึ้น
  • มีรอยถลอก หรือมีรอยขีดข่วน
  • มีรอยฉีก ร้าว รั่ว หรือขวดบุบ
  • ขวดเริ่มเปราะ ปริ หรือแตก