คงปฏิเสธไม่ได้ว่าของทอดต่าง ๆ อย่างมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ไก่ทอด หรือเฟรนช์ฟรายส์ ล้วนเป็นเมนูโปรดปรานของใครหลายคน แต่นอกจากรสชาติที่อร่อยและลักษณะชวนรับประทานแล้ว รู้หรือไม่ว่าของทอดยังมีแคลอรี่และไขมันทรานส์ในปริมาณสูง
ดังนั้น การรับประทานอาหารชนิดนี้เป็นประจำก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและก่อให้เกิดโรคได้ แล้วควรเลือกรับประทานของทอดอย่างไรให้ปลอดภัย สามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
ทำไมของทอดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ?
ของทอดมีแคลอรี่สูง อาหารที่ผ่านกระบวนการทอดส่วนใหญ่จะมีแคลอรี่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยกรรมวิธีอื่น ๆ เนื่องจากการทอดอาหารในน้ำมันจะทำให้อาหารสูญเสียน้ำและดูดซับไขมันเข้าไปแทน รวมทั้งวัตถุดิบที่จะนำไปทอดมักถูกชุบด้วยแป้งทอดกรอบก่อน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ของทอดมีแคลอรี่สูง โดยมันฝรั่งอบ 1 ลูกเล็กที่หนักประมาณ 100 กรัม จะให้คุณค่าทางโภชนาการเป็นพลังงาน 93 แคลอรี่ และไขมัน 0 กรัม ในขณะที่เฟรนช์ฟรายส์หรือมันฝรั่งทอด 100 กรัม จะให้พลังงานถึง 319 แคลอรี่ และมีไขมัน 17 กรัม
นอกจากนี้ การรับประทานของทอดอาจทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ง่าย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ไขมันทรานส์ในอาหารทอดอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหารและการสะสมไขมัน ซึ่งเป็นเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
ของทอดมักมีไขมันทรานส์สูง ไขมันทรานส์เกิดจากการแปลงสภาพของไขมันไม่อิ่มตัวด้วยการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมัน (Hydrogenation) โดยผู้ประกอบการหลายแห่งมักใช้วิธีนี้ในการผลิตอาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและทำให้อาหารคงอยู่ในสภาพเดิมได้นานขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการเติมไฮโดรเจนอาจเกิดได้จากการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้โครงสร้างของน้ำมันเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้ร่างกายสลายไขมันไม่ได้จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
ของทอดอาจมีสารอะคริลาไมด์ อะคริลาไมด์ (Acrylamide) เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นในอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงสุกด้วยความร้อนสูง เช่น อาหารทอด และอาหารประเภทอบกรอบ เป็นต้น โดยอาหารที่สุกด้วยความร้อนสูงมาก ๆ จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างกรดอะมิโนแอสพาราจีน (Asparagine) กับน้ำตาลในอาหารจนเกิดเป็นสารอะคริลาไมด์ขึ้นมา ซึ่งสามารถพบสารเคมีดังกล่าวได้ในอาหารทอดทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะมันฝรั่งที่มีปริมาณน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสสูง นอกจากนี้ การทดลองในสัตว์หลายชิ้นยังชี้ว่าสารอะคริลาไมด์อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองกับมนุษย์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการรับประทานอาหารทอดบ่อย ๆ จะก่อมะเร็งได้จริงหรือไม่
ของทอดอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรค งานวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ได้ติดตามพฤติกรรมการรับประทานอาหารของชายหญิงจำนวน 100,000 ราย เป็นเวลากว่า 25 ปี พบว่าผู้ที่รับประทานอาหารทอดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ และยิ่งเสี่ยงมากขึ้นหากรับประทานอาหารทอดถี่ขึ้น โดยกลุ่มผู้ทดลองที่รับประทานอาหารทอด 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มผู้ทดลองที่รับประทานอาหารทอด 7 ครั้งต่อสัปดาห์ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 55 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารทอดน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
รับประทานของทอดอย่างไรให้ปลอดภัย ?
แม้อาหารทอดจะส่งผลเสียต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ด้วยรสชาติและเนื้อสัมผัสกรุบกรอบก็อาจทำให้หลายคนอดใจไม่ได้ ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับประทานของทอดได้อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น
เปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอด การปรุงอาหารประเภททอดนั้นต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่าอาหารประเภทผัด จึงควรเลือกใช้น้ำมันที่เหมาะกับการทอดมากกว่า อย่างการใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันจากสัตว์แทนการใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย หรือน้ำมันรำข้าว แต่ก็ควรใช้น้ำมันในปริมาณที่เหมาะสม และระวังเรื่องคอเลสเตอรอลจากไขมันสัตว์ด้วย เนื่องจากร่างกายได้รับไขมันจากการรับประทานเนื้อสัตว์อยู่แล้ว โดยการใช้น้ำมันหมู 1 ช้อน ร่างกายจะได้รับคอเลสเตอรอลประมาณ 9-10 มิลลิลิตร
เปลี่ยนวิธีการทอด อาจเปลี่ยนไปทอดด้วยหม้อทอดไร้น้ำมัน ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารทอดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยตัวเครื่องจะพ่นลมร้อนออกมารอบ ๆ อาหาร ทำให้อาหารกรอบด้านนอกและเนื้อสัมผัสด้านในมีความฉ่ำ ซึ่งจะใช้น้ำมันน้อยกว่าการทอดแบบธรรมดา 70-80 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ อาจใช้การอบแทนการทอด โดยอบอาหารที่อุณหภูมิสูงประมาณ 232 องศา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้อาหารมีความกรอบแม้จะใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยหรือไม่ใช้เลยก็ตาม
ปรับวิธีการทอด หากต้องการใช้กระทะทอดแบบธรรมดา อาจปรับเปลี่ยนวิธีการทอดด้วยเคล็ดลับที่ช่วยให้อาหารทอดปลอดภัยมากขึ้น ดังนี้
- ทอดอาหารโดยใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อให้น้ำมันเพียงพอต่อการเคลือบอาหารและไม่ให้อาหารติดภาชนะทอด โดยใช้วิธีนี้แทนการทอดให้อาหารจมอยู่ในน้ำมัน
- เลือกใช้น้ำมันที่ทนความร้อนสูงในการผัดหรือทอด
- ไม่ใช้เกล็ดขนมปังเคลือบอาหาร เพราะจะทำให้อาหารดูดซับน้ำมันมากขึ้น
- ไม่ใช้น้ำมันเก่า โดยควรเปลี่ยนน้ำมันทุกครั้งที่ผัดหรือทอดอาหาร