ขับถ่ายยาก 10 สาเหตุและวิธีการรับมือด้วยตัวเอง

ขับถ่ายยาก คืออาการที่ขับถ่ายอุจจาระลำบาก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกินอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย การกลั้นอุจจาระเป็นประจำ ปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรือผลข้างเคียงของยาบางชนิด โดยอาการขับถ่ายยากอาจรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการกินอาหารและพฤติกรรมบางอย่าง การออกกำลังกาย หรือการกินยาระบาย

ลักษณะหรือพฤติกรรมการขับถ่ายของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่สำหรับผู้ที่มีอาการขับถ่ายยาก ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแห้งและแข็ง หรือถ่ายอุจจาระไม่ออก อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูก อย่างไรก็ตาม หากลองใช้วิธีรักษาต่าง ๆ แล้ว แต่อาการขับถ่ายยากยังคงไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

ขับถ่ายยาก

สาเหตุของอาการขับถ่ายยาก

ขับถ่ายยากอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้ดูดซึมน้ำจากอุจจาระ จึงอาจทำให้อุจจาระแห้งและแข็ง ซึ่งอาจทำให้การขับถ่ายลำบากมากขึ้น โดยขับถ่ายยากอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. การกินอาหารที่มีไฟเบอร์ไม่เพียงพอ

ไฟเบอร์หรือใยอาหารเป็นสารอาหารที่ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ โดยไฟเบอร์อาจช่วยดูดซึมน้ำในลำไส้ ซึ่งช่วยให้อุจจาระนิ่มและถ่ายได้ง่ายยิ่งขึ้น หากร่างกายได้รับไฟเบอร์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในผู้ที่กินผักหรือผลไม้น้อย อาจส่งผลให้ขับถ่ายยากและมีอาการท้องผูกได้

2. การดื่มน้ำไม่เพียงพอ

น้ำมีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือมีภาวะขาดน้ำ ลำไส้ใหญ่อาจดูดซึมน้ำจากของเสียหรืออุจจาระมาใช้ และอาจส่งผลให้อุจจาระแห้งและแข็ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้การขับถ่ายยากยิ่งขึ้น

3. การไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย

การเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่ค่อยออกแรงทำกิจกรรมเพื่อขยับเขยื้อนร่างกาย หรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ขาดความแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องและกะบังลมที่มีหน้าที่ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ หากกล้ามเนื้อเหล่านี้ไม่แข็งแรง อาจส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขับถ่ายยากได้

4. การกลั้นอุจจาระ

การกลั้นอุจจาระนาน ๆ อาจทำให้ลำไส้ดูดซึมน้ำออกจากอุจจาระอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยากขึ้น อีกทั้งการกลั้นอุจจาระเป็นประจำยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น ท้องผูก ริดสีดวงทวาร  

นอกจากนี้ การกลั้นอุจจาระประจำยังอาจทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายอุจจาระน้อยลง โดยปกติแล้ว อุจจาระจะเคลื่อนมาที่ไส้ตรงหรือบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และอาจทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายเพื่อให้รู้สึกโล่ง แต่หากกลั้นอุจจาระนาน ๆ เป็นประจำ กล้ามเนื้อไส้ตรงอาจขยายและทำให้ความรู้สึกอยากขับถ่ายน้อยลง จึงอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือขับถ่ายยากได้

5. ภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS)

ผู้ที่ขับถ่ายยากหรือท้องผูกสลับกับอาการท้องเสีย และมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด อาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ความเครียด หรือภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance)

 6. ภาวะลำไส้อุดตัน

ลำไส้อุดตันคืออาการที่มีบางอย่างอุดกั้นอยู่ในลำไส้ โดยอาจเกิดจากการกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ไส้เลื่อน ลำไส้กลืนกัน ลำไส้บิดตัว จึงอาจส่งผลให้อาหารหรืออุจจาระไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการขับถ่ายยากหรืออาการท้องผูกได้

7. โรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เส้นเลือดฝอยหรือเส้นประสาททั่วทั้งร่างกาย รวมไปถึงบริเวณทางเดินอาหารได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของระบบย่อยอาหารช้าลง 

โดยอาหารที่ผ่านการย่อยแล้วหรือของเสียอาจเคลื่อนที่ช้าลง และทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำจากของเสียเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก และเกิดอาการท้องผูกตามมา

8. การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติจากระบบประสาท (Bowel nerve dysfunction)

อาการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังอาจขัดขวางการส่งสัญญาณระหว่างสมองและเส้นประสาทบริเวณไขสันหลังที่คอยควบคุมการทำงานของลำไส้ ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของลำไส้และการขับถ่ายผิดปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีการขับถ่ายน้อยลง ขับถ่ายยาก และเกิดอาการท้องผูก

9. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงอาการขับถ่ายยาก โดยยาที่อาจส่งผลให้ขับถ่ายยาก เช่น

  • ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ยาต้านเศร้า เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants) 
  • ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมหรือแคลเซียม
  • ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน
  • ยากันชัก เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin)
  • ยารักษาอาการคลื่นไส้ เช่น ยาออนดาเซทรอน  (Ondansetron)
  • ยารักษาโรคความดันโลหิต เช่น ยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blockers) ยาเวอราปามิล ( Verapamil)
  • อาหารเสริมบางชนิด เช่น อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของแคลเซียมและธาตุเหล็ก 

นอกจากยาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาจยังมียาชนิดอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ขับถ่ายยาก หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

10. การตั้งครรภ์

อาการขับถ่ายยากหรือท้องผูกขณะตั้งครรภ์เป็นอาการที่พบได้บ่อยงสาเหตุอาจเกิดจากการมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น โดยฮอร์โมนอาจส่งผลให้ลำไส้บีบตัวเพื่อเคลื่อนที่อาหารและของเสียได้ช้าลง ซึ่งอาจทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำออกจากของเสียได้เพิ่มขึ้น จึงทำให้อุจจาระแห้ง แข็ง และขับถ่ายยาก

วิธีรับมืออาการขับถ่ายยากด้วยตัวเอง

การรักษาอาการขับถ่ายยากมากขึ้นสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับถ่ายยากอาจใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการขับถ่ายยากหรือท้องผูก เช่น

การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร

การกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างผักหรือผลไม้เพิ่ม และดื่มน้ำเยอะ ๆ อาจช่วยให้การขับถ่ายง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาการขับถ่ายยากรุนแรงขึ้น เช่น นม ชีส ข้าวขาว ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย เช่น การเดินหรือการวิ่ง อาจช่วยให้อุจจาระเคลื่อนที่ผ่านลำไส้และขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรออกกำลังกายหลังจากกินอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องwww.pobpad.com/ปวดท้อง ท้องอืด ซึ่งอาจทำให้อาการขับถ่ายยากรุนแรงขึ้น 

การนั่งขับถ่ายอย่างถูกวิธี

การนั่งขับถ่ายอย่างถูกวิธี อาจช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น โดยระหว่างการนั่งขับถ่ายบนชักโครก ควรโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย และอาจลองหาเก้าอี้ขนาดเล็กมาวางไว้ที่เท้าเพื่อให้หัวเข่าอยู่สูงกว่าสะโพก ท่านี้อาจช่วยลดการเกร็งหน้าท้อง จึงอาจช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากยังคงขับถ่ายไม่ออก ควรลองใหม่อีกครั้ง และไม่ควรฝืนเบ่งอุจจาระหรือนั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้

การกินอาหารเสริมไฟเบอร์

หากไม่สามารถกินผักหรือผลไม้ อาจลองกินอาหารเสริมไฟเบอร์เพื่อให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์อย่างเพียงพอ และบรรเทาอาการขับถ่ายยาก โดยการกินอาหารเสริมไฟเบอร์อาจช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนกินอาหารเสริมไฟเบอร์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

การใช้ยาระบาย

ยาระบายเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรักษาอาการขับถ่ายยากที่อาจเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว โดยยาระบายมีหลากหลายประเภท ซึ่งควรใช้ให้เหมาะสมกับอาการ เช่น 

  • ยาระบายแบบสารหล่อลื่น (Lubricant laxatives) เป็นยาระบายที่อาจช่วยให้อุจจาระเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น
  • ยาระบายแบบกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ (Stimulant Laxative) เป็นยาระบายที่อาจช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการบีบตัวเพื่อให้อุจจาระเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเพื่อหายาระบายที่เหมาะสมกับอาการต่าง  ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ควรใช้ยาในปริมาณที่ฉลากระบุ เพราะการใช้ยาระบายมากเกินไป อาจส่งผลให้อาการขับถ่ายยากหรือท้องผูกรุนแรงกว่าเดิม

หากยังคงมีอาการขับถ่ายยากนานเกิน 3 สัปดาห์ อาการขับถ่ายยากส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เลือดออกทางทวารหนัก อุจจาระปนเลือดหรืออุจจาระสีดำ มีอาการปวดท้องไม่หาย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม