ดสายตา (Vision Tests) คือการตรวจชนิดหนึ่งที่ทำเพื่อตรวจสอบการทำงานของดวงตา ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจน รายละเอียดในการมองเห็น ความสามารถในการแยกแยะรูปทรงและรายละเอียดของสิ่งของต่าง ๆ การมองเห็นสี ไปจนถึงการทดสอบการมองเห็นภาพด้านข้างหรือลานสายตา (Visual Field Test)
การวัดสายตามักถูกใช้เมื่อแพทย์และจักษุแพทย์ต้องการตรวจร่างกายโดยรวมของผู้ป่วย หรือใช้ในการประเมินโรคหรืออาการทางตา เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ภาวะสายตาสั้น ภาวะสายตายาว ภาวะสายตาเอียง จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ตาบอดสี การเกิดอุบัติเหตุทางดวงตา อาการปวดศีรษะเรื้อรัง รวมถึงการติดตามผลการรักษาทางดวงตาต่าง ๆ
การเตรียมตัวก่อนการเข้าวัดสายตา
ก่อนจะเริ่มวัดสายตา หากผู้เข้ารับการตรวจสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ควรนำไปในการทดสอบด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้ในการทดสอบ และหากว่ามีสำเนาใบสั่งทำแว่นตาจากแพทย์ก็ควรนำไปประกอบการทดสอบเช่นกัน
สำหรับเด็กเล็ก อาจสอนบุตรหลานให้ฝึกทำการทดสอบที่บ้านก่อนนัดไปตรวจวัดสายตาในสถานที่จริง เพราะจะช่วยให้เด็กให้ความร่วมมือได้เป็นอย่างดีเมื่อทำการทดสอบจริง
ทั้งนี้ การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการทดสอบการมองเห็นได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดใด ๆ อยู่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน นอกจากนั้น หากมีความกังวลหรือความสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจสายตา ควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ให้เข้าใจถึงขั้นตอนการตรวจและผลของการตรวจ
ขั้นตอนในการวัดสายตา
การวัดสายตามีอยู่หลายวิธี โดยแต่ละวิธีก็จะมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการตรวจ เช่น
การวัดค่าสายตา (Visual Acuity Test)
วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำได้ทั้งที่โรงพยาบาล คลินิก โรงเรียน ที่ทำงาน หรือร้านแว่นตา โดยก่อนเริ่มขั้นตอนการวัดสายตา ผู้ที่ดูแลจะให้ถอดแว่นตาหรือให้เอาคอนแทคเลนส์ออกก่อน จากนั้นจะให้ยืนหรือนั่งให้ห่างจากแผ่นชาร์ทวัดการอ่าน (Snellen Chart) เป็นระยะห่างประมาณ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร
จากนั้น จะให้ปิดตาทีละข้างด้วยมือหรืออุปกรณ์ที่มี และให้อ่านออกเสียงพยัญชนะ ตัวเลข หรือรูปภาพที่เห็นออกมา โดยหากผู้เข้ารับการตรวจมองตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ตัวใดไม่ค่อยเห็น ทางผู้ดูแลจะให้พยายามเดาคำตอบ ทั้งนี้ การทดสอบนี้จะทำทีละข้าง และถ้าจำเป็นอาจให้ทำซ้ำอีกครั้งโดยใส่แว่นตาและคอนแทคเลนส์
นอกจากนี้ ในบางคน ผู้ดูแลอาจให้ทำการวัดสายตาการมองเห็นระยะใกล้ด้วยการอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขจากแผ่นการ์ดวัดสายตา (Jaeger Chart) ห่างจากใบหน้าประมาณ 14 นิ้ว หรือ 36 เซนติเมตร โดยให้อ่านพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้าง ซึ่งการทดสอบระยะใกล้นี้จะทำเป็นประจำหลังอายุ 40 ปี เพราะความสามารถในการมองเห็นระยะสั้นจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
หลังจากการตรวจวัดสายตา แพทย์จะแจ้งผลให้ทราบว่าค่าการมองเห็นของตาแต่ละข้างปกติหรือไม่ หรือค่าสายตาดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าปกติหรือไม่ โดยผลตรวจจะแบ่งเป็นส่วน ตัวอย่างเช่น 20/20 หมายความว่า การมองเห็นในระยะ 20 ฟุต ห่างจากวัตถุเป็นปกติ แต่หากได้ผลเป็น 20/40 จะหมายความว่า ต้องมองวัตถุในระยะ 20 ฟุต แต่คนปกติสามารถมองเห็นเป็นปกติได้ในระยะ 40 ฟุต
โดยหากความชัดเจนในการมองเห็นไม่ได้เป็น 20/20 หรือไม่ปกติ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ หรืออาจหมายความว่ามีภาวะบางอย่างทางตา เช่น การติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต้องได้รับการตรวจหรือประเมินเพิ่มเติมเพื่อการรักษา
การทดสอบลานสายตา
การตรวจลานสายตาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี
1. การตรวจแบบ Confrontational Visual Field
เป็นการทดสอบการมองเห็นภาพด้านข้างหรือลานสายตา โดยผู้ตรวจจะให้ผู้รับการตรวจจะยืนตรงข้ามกับผู้ตรวจระยะห่างประมาณ 3–4 ฟุต และให้ผู้รับการตรวจปิดตาหนึ่งข้างด้วยอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายช้อน
จากนั้น ผู้ตรวจจะให้ผู้รับการตรวจมองตรงไปที่ข้างหน้า และผู้ตรวจจะค่อย ๆ ขยับมือเข้าและออกในลานสายตาของผู้รับการตรวจ โดยในระหว่างนี้ ผู้รับการตรวจไม่ต้องขยับตามองตาม แต่ผู้ตรวจจะให้ผู้รับการตรวจคอยให้สัญญาณหากมองเห็นมือของผู้ตรวจ และเมื่อตรวจเสร็จ ผู้ตรวจจะทำการทดสอบตาอีกข้างของผู้รับการตรวจต่อ
ทั้งนี้ การตรวจด้วยวิธีนี้เป็นการตรวจคร่าว ๆ ที่สามารถช่วยให้แพทย์ผู้ตรวจพิจารณาได้ว่าต้องการตรวจลานสายตาอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่
2. การตรวจด้วยเครื่องวัดลานตา (Tangent Screen) หรือ Goldmann Field Exam
ผู้ตรวจจะให้ผู้รับการตรวจนั่งห่างจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 3 ฟุต ซึ่งในจอนี้จะมีจุดให้ผู้รับการตรวจมองโฟกัสสำหรับการทดสอบ โดยคอมพิวเตอร์จะสร้างภาพขึ้นมาในจุดที่ต่าง ๆ กัน
ทั้งนี้ ในขณะตรวจ ผู้รับการตรวจไม่ต้องขยับตามองตามจุดโฟกัส แต่จะต้องคอยบอกกับผู้ตรวจเมื่อมองเห็นวัตถุที่ด้านข้างสายตา โดยแพทย์ผู้ตรวจจะนำผลที่ได้ไปสร้างแบบแผนจากลานสายตาของผู้รับการตรวจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถเห็นว่า มีจุดใดของลานสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ รวมถึงช่วยให้แพทย์สามารถวินัจฉัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับลานสายตาได้
3. การตรวจแบบ Automated Perimetry
เป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการตรวจลานสายตา โดยวิธีนี้ แพทย์จะให้ผู้รับการตรวจนั่งลงและมองเข้าไปที่วัตถุตรงกลางของเครื่องตรวจวัดที่มีลักษณะคล้ายรูปโดม
จากนั้นจะมีแสงไฟเล็ก ๆ กระพริบที่เครื่องตรวจวัด ซึ่งเวลาที่ผู้รับการตรวจมองเห็นแสงเหล่านี้จะต้องกดปุ่ม และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็จะให้ข้อมูลลานสายตาของผู้รับการตรวจ และเมื่อตรวจเสร็จ แพทย์ผู้ตรวจก็จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยปัญหาหรือดูว่าต้องให้มีการทดสอบเพิ่มเติมหรือไม่
การทดสอบการมองเห็นสี
การทดสอบการมองเห็นสีนั้นไม่มีอันตรายและความเสี่ยง และไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ เป็นพิเศษ โดยการเตรียมตัวก่อนตรวจ ผู้รับการตรวจที่ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ก็ให้ใส่เป็นปกติในระหว่างการตรวจ ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจจะสอบถามถึงการใช้ยาหรืออาหารเสริมต่าง ๆ หากผู้เข้ารับการตรวจมีการเจ็บป่วยหรือมีประวัติเกี่ยวกับความบกพร่องในการมองเห็นสีของคนในครอบครัว
ในระหว่างการตรวจ แพทย์หรือผู้ตรวจจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนั่งในห้องที่มีความสว่างตามปกติและให้ปิดตาหนึ่งข้าง ส่วนตาข้างที่ไม่ได้ปิดก็ให้มองไปที่บัตรภาพที่ใช้สำหรับการทดสอบ โดยภาพแต่ละใบจะมีตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่รายล้อมไปด้วยพื้นหลังที่เป็นจุดสีที่แตกต่างกันไป
หากผู้รับการตรวจสามารถแยกแยะและบอกถึงตัวเลขหรือสัญลักษณ์ได้ก็แสดงว่าการมองเห็นสีมีความปกติ แต่หากผู้เข้ารับการตรวจมีความบกพร่องในการมองเห็นสี ผู้รับการตรวจก็จะไม่สามารถมองเห็นหรือแยกแยะตัวเลขหรือสัญลักษณ์นั้นได้
การวัดความดันตา
วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้เพื่อตรวจหาความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินของผู้ป่วย โดยจักษุแพทย์จะเพียงใช้อุปกรณ์พ่นลมออกมาเบา ๆ ที่บริเวณดวงตาของผู้ป่วย หรืออาจใช้เป็นเครื่องมือชนิดอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์
การตรวจหาสัญญาณต้อกระจก หรือรอยแผลบริเวณกระจกตา
วิธีนี้แพทย์จะใช้อุปกรณ์กล้องที่ชื่อ Slit lamp ส่องดูบริเวณด้านหน้าดวงตาของผู้ป่วย ได้แก่ เปลือกตา กระจกตา ม่านตา และเลนส์ตา เพื่อตรวจหาสัญญาณต้อกระจก หรือรอยแผลบริเวณกระจกตา