ขี้หึงเกินไป ทำยังไงดี ?

ความหึงหวงเป็นต้นเหตุหนึ่งของการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคู่รัก ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่าอาการหึงก็มีข้อดีเช่นกัน แต่จะเป็นอย่างไร ? และจะปรับปรุงนิสัยขี้หึงมากเกินไปได้หรือไม่ ? บทความนี้มีคำตอบมาฝากคุณแล้ว !

1901 ขี้หึงเกินไป rs

อาการหึงหวง เรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้

ความหึงเป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกว่าบางคนหรือบางสถานการณ์กำลังคุกคามสิ่งที่คุณให้ความสำคัญ โดยการหึงหวงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นระหว่างคู่รักเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นได้ ทั้งพี่น้อง คนในครอบครัว เพื่อน รวมถึงเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาการหึงที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้อาจส่งผลดีต่อความสัมพันธ์นั้น ๆ เพราะมีส่วนช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกดีที่เป็นคนสำคัญ และอาจช่วยให้ความสัมพันธ์นั้น ๆ แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการหึงหวงที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ฉันท์คนรัก ซึ่งความหึงอาจทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกโกรธ วิตกกังวล หรืออ่อนไหวง่ายกว่าปกติ บางคนอาจพยายามแสดงความเป็นเจ้าของหรือการมีสิทธิเหนือคนรัก ในขณะที่บางคนอาจไม่สามารถควบคุมอาการได้จนถึงขั้นข่มขู่ทำร้ายบุคคลที่ 3 หรือแม้กระทั่งคนรักของคุณเอง

ความขี้หึงส่งผลเสียอย่างไร ?

ความสัมพันธ์ แน่นอนว่าอาการหึงหวงที่มากเกินไปนั้นเป็นชนวนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณเริ่มกล่าวหาอีกฝ่ายในเรื่องที่ไม่ใช่ความจริง ซึ่งมักทำให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาคิดว่าคนรักไม่ไว้ใจตนเอง จนเกิดความรู้สึกเสียใจ น้อยใจ กังวลใจ และโกรธตามมา

สุขภาพร่างกาย อาการหึงหวงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับและทำให้มีอาการเบื่ออาหารได้ อีกทั้งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติคล้ายภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง เช่น อ่อนเพลีย มีเหงื่อออกมาก หรือหัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น นอกจากนี้ อาการหึงหวงที่เกิดขึ้นเป็นประจำและไม่มีการรับมืออย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าตามมาได้ในที่สุด

รับมือกับความหึงหวงอย่างไรดี ?

ความหึงหวงเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดและปรับพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งการรับมือเมื่อเกิดอาการหึงหวงระหว่างคู่รัก มีดังนี้

ฝึกพัฒนาจิตใจ
การปรับความคิดของตนเองเป็นวิธีรับมือกับอาการหึงหวงได้เป็นอย่างดี เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ตัวว่ากำลังหึงหวงคนรัก ให้ลองตั้งสติและสงบจิตใจ แล้วปล่อยให้ความรู้สึกดังกล่าวผ่านเลยไป โดยไม่เก็บมารบกวนจิตใจ และนึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ในมุมมองของการเรียนรู้เพื่อการเติบโตทางอารมณ์

ทบทวนความสัมพันธ์ของตนกับคนรัก
ความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักนั้นควรสร้างขึ้นจากความรัก ความไว้ใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน หากคนรักของคุณมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้คุณรู้สึกหึงหวงอยู่บ่อยครั้ง อาจต้องหันกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรักอีกครั้ง ว่าความรักครั้งนี้ทำให้คุณมีความสุขหรือไม่ และคุณสามารถอยู่กับความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปได้ไหม

พูดคุยกับคนรัก
ควรพูดคุยกับคนรักถึงความรู้สึกหึงหวงและความวิตกกังวลของคุณอย่างมีสติ โดยไม่ใช้อารมณ์หรือน้ำเสียงเชิงต่อว่า ทั้งนี้ ควรเตรียมเรื่องที่ต้องการพูดไว้ล่วงหน้า และเลือกสถานที่นัดเจอที่มีบรรยากาศสบาย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียด เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร เป็นต้น

ลองมองด้วยสายตาคนนอก
ความรู้สึกหึงหวงอาจเกิดขึ้นจากการคิดไปเองหรือความเข้าใจผิด เพราะจริง ๆ แล้วอาจไม่มีบุคคลที่ 3 หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่กำลังคุกคามความสัมพันธ์ของคุณกับคนรัก การลองถอยออกมาเพื่อมองเหตุการณ์นี้ในภาพกว้างอาจทำให้คุณเข้าใจการกระทำของคนรักมากขึ้น

รักษาระยะห่างระหว่างคุณกับคนรัก
ทั้งคุณและคนรักต่างก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้น การเข้าไปควบคุมการกระทำทุก ๆ อย่างหรือรับรู้ทุก ๆ เรื่องของคนรักนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ บางครั้งคุณจึงต้องยอมรับความคลุมเครือในบางเรื่อง และพยายามเชื่อใจคนรักของคุณไว้ให้มาก

ปรึกษาเพื่อนหรือนักบำบัด
อาจลองปรึกษาเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจถึงความรู้สึกหึงหวงที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ควรละเลยการพูดคุยเพื่อปรับเข้าใจกับคนรักของคุณโดยตรงด้วย และอาจปรึกษานักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญที่อาจช่วยให้คุณค้นพบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการหึงหวง รวมถึงรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรับมือกับอาการดังกล่าวอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป