ใครๆ ก็ต้องเคยรู้สึกขี้เกียจ แต่ถ้าขี้เกียจจนติดเป็นนิสัยอาจสร้างปัญหาในการทำงานหรือการใช้ชีวิตได้ เชื่อหรือไม่ว่าอาการขี้เกียจแก้ไขได้ เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง และมีอีกหลายวิธีที่อาจช่วยกระตุ้นให้รู้สึกมีพลัง กระปรี้กระเปร่า และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากขึ้นจนอาจลืมขี้เกียจไปเลย
ปรับเปลี่ยนชีวิต พิชิตความขี้เกียจ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองอาจช่วยลดอาการขี้กียจได้ โดยลองทำตามวิธีการดังต่อไปนี้
- ปรับมื้ออาหาร การแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ช่วยลดอาการเหนื่อยล้าและความขี้เกียจได้ เนื่องจากสมองต้องการสารอาหารเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานอยู่ตลอดเวลา และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อยเพื่อให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้า เช่น ถั่ว ธัญพืช ผักที่มีเส้นใยสูง น้ำมันมะกอก รวมทั้งอาหารจำพวกโปรตีนและไขมัน เพราะจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มนาน และมีเรี่ยวแรงกว่าการรับประทานอาหารประเภทแป้งที่มีน้ำตาลสูง
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เรื้อรังได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่ออารมณ์ แรงผลักดันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และระดับพลังงานในร่างกาย ซึ่งเป็นผลทำให้ขี้เกียจได้ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการนอนหลับเพื่อป้องกันอาการง่วง เฉื่อยชา และขี้เกียจระหว่างวัน โดยทั่วไป ผู้ใหญ่ควรนอนหลับวันละ 7-9 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย 150 นาที/สัปดาห์ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีพลังงานตลอดวัน ช่วยลดความเครียด และยังเพิ่มความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ดื่มน้ำ การดื่มน้ำเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยขจัดความขี้เกียจ เพราะหากเกิดภาวะขาดน้ำจะทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายช้าลง เป็นสาเหตุทำให้รู้สึกอ่อนล้า ดังนั้น ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอกจากนี้ อาจใส่ผลไม้ลงไปในน้ำดื่ม เช่น มะนาว เบอร์รี่ แตงกวา เป็นต้น เพื่อเพิ่มสีสันและทำให้รู้สึกสดชื่น
- ควบคุมความเครียด ความเครียดจากการทำงานหรือปัญหาส่วนตัวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและขี้เกียจได้ การพบปะสังสรรค์กับเพื่อน การเข้าร่วมกลุ่มแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ที่เผชิญปัญหาคล้าย ๆ กัน หรือการปรึกษาจิตแพทย์ อาจช่วยลดระดับความเครียดลงได้ นอกจากนี้ อาจทำกิจกรรมช่วยผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือไทชิ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ นอกจากการสูบบุหรี่จะทำลายสุขภาพแล้ว สารนิโคตินในบุหรี่ยังทำให้รู้สึกง่วงซึมด้วย เนื่องจากนิโคตินส่งผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นคลื่นสมองทำให้รู้สึกตื่นตัว เกิดปัญหานอนไม่หลับ จึงรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าในวันรุ่งขึ้น
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในตอนกลางวัน เนื่องจากแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กดประสาททำให้รู้สึกง่วงและขี้เกียจ หากดื่มแอลกอฮอล์ ควรจำกัดปริมาณให้เหมาะสม เพื่อป้องกันความอ่อนล้าและอาการง่วงซึมที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
เคล็ดลับรับมือความขี้เกียจ
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองแล้ว เคล็ดลับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ อาจช่วยแก้ปัญหาความขี้เกียจ และกระตุ้นความขยันให้กลับมาได้
- รับประทานขนม หากรู้สึกขี้เกียจ อ่อนล้า ไม่มีแรงในช่วงสายหรือช่วงบ่ายของวัน แสดงว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะขนมที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอาจช่วยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้ เนื่องจากขนมเหล่านี้จะช่วยเร่งกระบวนการเมตาบอลิซึมทำให้ร่างกายมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนถึงเวลารับประทานอาหารมื้อหลัก ควรเลือกรับประทานขนมที่ให้พลังงานประมาณ 100-200 แคลอรี่
- รับแสงแดด จากงานวิจัยพบว่าการได้รับแสงแดดในวันที่อากาศดีเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ อาจช่วยปรับสภาพอารมณ์ ทำให้ความจำดีขึ้น เปิดรับความจำใหม่ได้ดี และยังช่วยให้รู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หากไม่สะดวกหรือไม่มีเวลาออกไปข้างนอกเพื่อรับแสงแดด อาจเปิดผ้าม่านหรือหน้าต่างเพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามาในห้องแทน
- หายใจเข้าลึก ๆ ลองสูดหายใจเข้าลึก ๆ เมื่อรู้สึกขี้เกียจ โดยหลับตาลงแล้วสูดหายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ และหายใจออกทางปาก ทำซ้ำเรื่อย ๆ จนกว่าจังหวะการเต้นของหัวใจช้าลง การฝึกหายใจเช่นนี้จะช่วยลดความดันโลหิต ลดจังหวะการเต้นของหัวใจ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และยังช่วยขนส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายด้วย
- ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน การดื่มชาหรือกาแฟช่วยให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทำให้สมองทำงานและคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าต้องดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการบริโภคคาเฟอีนปริมาณมากในตอนกลางวันอาจทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้
- เดินผ่อนคลาย ความเครียดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและขี้เกียจ การเดินเล่นอาจช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นและช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ โดยอาจตื่นนอนก่อนเวลาปกติ 30 นาที เพื่อออกมาเดินเล่นก่อนรับประทานอาหารเช้า และอาจใช้เวลาช่วงพักเที่ยงเดินเล่นในสวนหรือสถานที่ที่ไม่มีคนพลุกพล่าน
- วางแผนการทำงาน ภาระงานที่ท่วมท้นอาจทำให้รู้สึกขี้เกียจและเหนื่อยล้าได้ ดังนั้น ควรลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำเสมอ และอาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างหากมีงานที่ต้องทำมากเกินไป
- ทำงานอดิเรก การทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ เช่น การทำอาหาร การฟังเพลง หรือการฝึกทักษะด้านต่าง ๆ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำให้รู้สึกกระตือรือร้นและมีแรงผลักดันในการทำสิ่งนั้น ๆ
- พบปะสังสรรค์กับเพื่อน การใช้เวลากับเพื่อนหรือผู้ที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน และการพูดคุยกับผู้ที่มีแง่มุมแนวคิดดี ๆ จะช่วยกระตุ้นและปลุกพลังให้ทำในสิ่งที่ต้องการได้ แต่การใช้เวลากับผู้ที่มีความคิดในแง่ลบ อารมณ์ไม่ดี หรือพูดบ่นตลอดเวลา อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและสูญเสียพลังงานได้
- มองทิวทัศน์ การมองทิวทัศน์ภายนอก เช่น ผู้คน นก ต้นไม้ ก้อนเมฆ ช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น เนื่องจากสมองจะปล่อยสารเคมีที่ช่วยปรับสภาพอารมณ์และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน หากสภาพแวดล้อมใกล้ตัวไม่มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหรือน่าสนใจ อาจใช้เวลาสั้น ๆ มองภาพชายหาดสวย ๆ หรือภาพดวงอาทิตย์ตกดินจากจอคอมพิวเตอร์แทน
- หวีผม การหวีผมช่วยบรรเทาความเครียด ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเคมีและสัญญาณคลื่นสมองที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำให้เลือดในสมองไหลเวียนได้อย่างปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นหนังศีรษะ ทำให้รู้สึกตื่นตัวและมีพลังทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้นด้วย