ข่า เป็นพืชในตระกูลเดียวกับขิง มีลำต้นหรือที่เรียกว่าเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นแนวนอน ซึ่งส่วนนี้เองที่นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมน่ารับประทาน นอกจากนี้ ข่ายังเป็นสมุนไพรทางเลือกที่นิยมใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้ทารักษากลากเกลื้อน ช่วยขับลมในระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการปวด และยังมีความเชื่อที่ว่าการรับประทานข่าอาจช่วยต้านมะเร็งได้
การใช้ข่าเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ นั้นจะให้ผลดีและปลอดภัยจริงหรือไม่ ปัจจุบันมีตัวอย่างงานวิจัยกล่าวถึงสรรพคุณทางยาของข่าตามที่เชื่อกัน ดังนี้
รักษากลากเกลื้อน มีการแนะนำให้ใช้ข่าปอกเปลือกฝานเป็นแว่นหรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ทิ้งไว้สัก 1 คืน แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากหรือเกลื้อนแรง ๆ ทำซ้ำ 4-5 วัน จะช่วยให้โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อราอย่างกลากหรือเกลื้อนดีขึ้นได้ ซึ่งคุณสมบัติในด้านการฆ่าเชื้อราของข่านั้นมีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากเหง้าข่าแห้งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อรา Trichophyton Mentagrophytes ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก โดยพบว่าในสารสกัดจากข่ามีสารออกฤทธิ์บางชนิดที่ช่วยต้านเชื้อรา และในข่าแห้ง 1 แผ่นบาง ๆ จะมีสารนี้ 1.5 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยดังกล่าวยังบอกอีกว่าอาจไม่ใช่ข่าทุกชนิดที่มีคุณสมบัตินี้ เพราะจากการทดสอบในข่าตาแดงหรือขิงนั้นไม่พบสารต้านเชื้อราดังกล่าว สอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าข่าตาแดงมีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียบางชนิดในระดับปานกลาง แต่เมื่อทดลองกับเชื้อราบางสกุลปรากฏว่าไม่สามารถต้านเชื้อราเหล่านั้นได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้างต้นเป็นการทดลองที่ทำในห้องปฏิบัติการและปัจจุบันยังไม่มีการนำข่ามาทดสอบกับผู้ป่วยโรคกลาก โรคเกลื้อน หรือโรคผิวหนังติดเชื้อราชนิดใด ๆ โดยตรง จึงไม่อาจยืนยันว่าจะมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากน้อยเพียงใดในการรักษาจริง ข่าจะช่วยฆ่าเชื้อราได้ทุกชนิดหรือไม่ อย่างไร คงต้องรอดูผลการพิสูจน์ที่อาจมีขึ้นในอนาคต ระหว่างนี้ผู้ที่ต้องการใช้ข่ารักษาตามวิธีดังกล่าวจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และควรได้รับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันหากอาการยังไม่ดีขึ้น
ขับลม บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เชื่อกันว่าข่ามีฤทธิ์ช่วยขับลมในระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บ้างกล่าวว่าให้นำเหง้าข่าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มน้ำจนเดือดแล้วดื่ม บ้างก็แนะนำให้ใช้หัวข่าตำละเอียด นำมาผสมน้ำปูนใส 2 แก้วดื่มรักษาอาการแน่นจุกเสียดจากอาหารไม่ย่อย แต่ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงคุณสมบัติด้านการขับลมของข่า หากอยากลองใช้ข่าเพื่อขับลมหรือบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยจึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ เช่น ใช้ที่ปริมาณแต่พอดีและไม่ใช้ต่อเนื่องยาวนานเกินไป
บรรเทาอาการปวด ภายในเหง้าข่าอาจมีสารบางชนิดที่ช่วยลดการอักเสบ ข้อมูลสนับสนุนสรรพคุณนี้ของข่ามีการรวบรวมการศึกษาที่พิสูจน์ประสิทธิภาพด้านการลดความเจ็บปวดของพืชในวงศ์ขิง ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง และข่า โดยพบว่าสารสกัดจากพืชเหล่านี้ต่างมีประสิทธิภาพช่วยลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ งานวิจัยต่าง ๆ ยังพบว่าเมื่อเทียบกับยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ พืชในวงศ์ขิงจะมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่าและยังปลอดภัยกว่า เพราะไม่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเกี่ยวกับโรคไตอย่างการใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์
ทั้งนี้ การทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ทำให้ไม่อาจระบุประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ข่าได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การใช้พืชใตระกูลข่ายังอาจสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงในการมีเลือดออกมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการใช้ข่าจะปลอดภัยกว่าในทุกด้าน และปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยเปรียบเทียบความเสี่ยงข้อนี้ รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างสารสกัดจากขิง ข่า และขมิ้นชัน ว่าชนิดใดจะเห็นผลดีมากกว่ากัน
ต้านมะเร็ง งานวิจัยบางงานพบว่าสารสกัดจากเหง้าข่ามีสารบางชนิดที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของร่างกายมนุษย์ที่นำมาทดสอบ โดยอาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เซลล์มะเร็งมดลูกไวต่อยาเคมีบำบัดอย่าง Daunomycin ยิ่งขึ้น รวมทั้งบางงานกล่าวว่าสารสกัดเหง้าข่าด้วยเมทานอลมีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ อย่างไรก็ตาม การทดลองทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นในห้องทดลอง ไม่ได้ทดสอบกับมนุษย์โดยตรง การหยดสารจากข่าลงบนเซลล์มะเร็งกับการรับประทานที่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายย่อมแตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาสรุปได้ว่าการรับประทานข่าจะมีผลในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้แบบเดียวกัน
ต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย จากการทดลองเปรียบเทียบระหว่างสารสกัดเหง้าข่าด้วยแอลกอฮอล์ผสมน้ำโดยการหมักเย็น การหมักร้อน หรือสารสกัดเหง้าข่าด้วยเมทานอล โดยข่าที่ใช้ในการทดลองนี้คือข่าแดง พบว่าสารสกัดจากทุกกระบวนการต่างมีสารประกอบสำคัญอย่างแทนนิน (Tannins) อัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซาโปนิน (Saponins) รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงอย่างฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แต่การหมักด้วยความร้อนจะพบสารฟีนอล (Phenol) และฟลาโวนอยด์มากกว่าวิธีอื่น ๆ
นอกจากนี้ จากการทดสอบสารสกัดจากข่าด้วยทั้ง 3 วิธี พบว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรีย Bacillus Cereus และแบคทีเรีย Staphylococcus Aureas ต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ แบคทีเรีย Escherichia Coli ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง และแบคทีเรีย Pseudomonas Auroginosa ซึ่งเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีอีกงานวิจัยหนึ่งที่กล่าวตรงกันว่าสารสกัดข่าด้วยเมทานอลมีคุณสมบัติต้านจุลินทรีย์ก่อโรค หากมีการพิสูจน์ที่ยืนยันได้ว่าข่ามีคุณสมบัติดังกล่าวเมื่อใช้กับคนจริง ภายหน้าวงการแพทย์อาจมีการพัฒนายาตัวใหม่โดยใช้สารสกัดจากข่าเป็นหนึ่งในส่วนผสมก็ได้
ความปลอดภัยในการใช้ข่ารักษาโรคต่าง ๆ
การรับประทานข่าในปริมาณที่พบได้จากอาหารทั่วไปค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ ส่วนการรับประทานข่าเพื่อรักษาโรคซึ่งอาจต้องใช้ในปริมาณมากนั้นอาจจะไม่เป็นอันตราย แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าควรใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัย ทั้งยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม โรคประจำตัว ดังนั้น ก่อนใช้ข่าหรือผลิตภัณฑ์จากข่าจึงควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ กลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการใช้ข่าสำหรับรักษาโรคเป็นพิเศษก็คือหญิงตั้งครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ข่าในช่วงระหว่างเวลาดังกล่าวที่ยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้เป็นดีที่สุด หรือหากใช้ก็ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ
ข่ายังอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิดอย่างยาลดกรดหรือยาที่มีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากข่าอาจมีฤทธิ์เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร จึงอาจส่งผลให้ยาลดกรดที่รับประทานมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ผู้ที่ใช้ยาประเภทดังกล่าวควรระมัดระวังและสังเกตอาการตนเองขณะใช้ข่าในปริมาณมากเพื่อรักษาโรคใด ๆ ด้วย