การกินวิตามินซีเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากประโยชน์ของวิตามินซีหลายด้าน เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ไม่เป็นหวัดหรือป่วยง่าย บำรุงผิวพรรณ และอื่น ๆ แต่การกินวิตามินซีที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แถมยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
วิตามินซีเป็นวิตามินชนิดละลายน้ำที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง เลยต้องได้รับจากการกินอาหารประเภทผักใบเขียวและผลไม้รสเปรี้ยวทั้งหลายแล้ว หรือบางคนอาจจะเลือกกินวิตามินซีในรูปแบบอาหารเสริมเพิ่มเติมจากมื้ออาหาร เพื่อการดูแลสุขภาพโดยรวม
วิตามินซีชนิดรับประทานควรเลือกแบบไหน
วิตามินซีรูปแบบเม็ดรับประทานถูกผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้คนที่มีเงื่อนไขสุขภาพที่แตกต่างกันสามารถเลือกรับวิตามินซีที่เหมาะสมกับตัวเองได้ โดยสังเกตได้จากฉลากของผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่จะระบุส่วนประกอบไว้ เช่น
- วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid)
- วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกผสมกับไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids)
- วิตามินซีในรูปไลโปโซมอล (Liposomal Vitamin C)
- วิตามินซีในรูปแคลเซียมแอสคอร์เบท (Calcium Ascorbate)
วิตามินซีแต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป บางชนิดเหมาะกับคนกลุ่มหนึ่งแต่อาจไม่เหมาะกับคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ การกินวิตามินซีจึงควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับเงื่อนไขสุขภาพของตัวเองมากที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วคนทั่วไปจะนิยมกินวิตามินซีประเภทกรดแอสคอร์บิก เนื่องจากมีลักษณะการดูดซึมที่ใกล้เคียงกับวิตามินซีที่พบได้ในอาหารมากที่สุด ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย
ปริมาณที่เหมาะสมในการกินวิตามินซี
ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายต้องการสำหรับคนทั่วไปในวัยผู้ใหญ่คือประมาณ 70–80 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนที่ต้องกินวิตามินซีเพื่อรักษาปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เลือดออกตามไรฟัน แพทย์อาจแนะนำให้กินวิตามินซีในปริมาณที่มากกว่านั้น ซึ่งอาจกินได้มากถึง 1,000–2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ร่างกายอาจไม่สามารถดูดซึมวิตามินได้ครบทั้งหมดและไม่สามารถเก็บสะสมไว้ได้
วิตามินซีส่วนเกินก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ การกินวิตามินซีจึงไม่ค่อยเกิดผลเสียที่รุนแรงต่อร่างกายมากนัก อย่างไรก็ตาม ปริมาณวิตามินทั้งหมดที่ได้รับทั้งจากอาหารและอาหารเสริมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และนิ่วในไตขึ้นได้
เวลาที่เหมาะสมในการกินวิตามินซี
การกินวิตามินซีสามารถกินเวลาใดของวันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องกินแค่เวลาเช้า กลางวัน หรือเย็นเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องกินร่วมกับมื้ออาหาร เนื่องจากวิตามินซีเป็นวิตามินประเภทละลายน้ำ เพียงแค่ดื่มน้ำร่วมด้วยเมื่อกินวิตามินซีก็ทำให้ตัววิตามินละลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว
บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้กินวิตามินซีร่วมกับมื้ออาหารหรือหลังอาหาร เพราะอาจช่วยลดผลข้างเคียงอย่างการระคายเคืองกระเพาะอาหาร เนื่องจากความเป็นกรดสูงของวิตามินซีลงได้ และอาจแนะนำให้กินวิตามินซีตอนเช้ามากกว่าตอนก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ
ข้อควรระวังในการกินวิตามินซี
แม้ว่าการกินวิตามินซีมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย แต่ก็มีข้อควรระวังบางประการในคนทั่วไป และคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินวิตามินซี
- การกินวิตามินซีในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในไตได้
- การกินวิตามินซีอาจทำปฏิกิริยากับกลุ่มยาสแตติน (Statins) และยาเคมีบำบัดบางชนิด คนที่กำลังกินยากลุ่มสแตตินหรืออยู่ในระหว่างการทำเคมีบำบัดควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินวิตามินซี
- ผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือดไม่ควรกินวิตามินซี เช่น ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว และโรคธาลัสซีเมีย
- คนที่เป็นโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการกินวิตามินซี เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
- วิตามินซีไวต่อความร้อน แสงแดด และความชื้น การเก็บวิตามินซีควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ไม่โดนความร้อนและแสงแดด เพราะอาจทำให้วิตามินซีเสื่อมคุณภาพ
การกินวิตามินซีให้ได้ประโยชน์ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการกิน และปริมาณที่กินควรมีความเหมาะสม เพราะการกินวิตามินซีเป็นปริมาณมากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย และคนที่กินโดยไม่มีความจำเป็นก็อาจไม่ได้ประโยชน์จากการกินวิตามินซีเช่นกัน