PRP หรือ Platelet-Rich Plasma เป็นการสกัดพลาสมา (Plasma) จากเลือดที่ประกอบด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น เพื่อนำมาใช้รักษาอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นการสมานแผลหลังศัลยกรรม เพราะในพลาสมามีสารโปรตีนที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และช่วยกระตุ้นการเติบโตของเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ
ในปัจจุบัน PRP เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในการดูแลผิวพรรณให้ดูอ่อนเยาว์ รักษาปัญหาผมร่วง ผมบาง และกระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ขึ้นทดแทน แต่การฉีด PRP มีข้อควรรู้ วิธีการ และข้อจำกัดก่อนการทำหลายประการ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาด้วย PRP ไว้ให้คุณแล้ว
การฉีด PRP คืออะไรและช่วยรักษาอาการใดบ้าง
เลือดของเราประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ส่วนของแข็ง ซึ่งประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด อีกส่วนคือของเหลวสีเหลืองใสเรียกว่า พลาสมา เมื่อนำเลือดมาผ่านกระบวนการแยกส่วนประกอบด้วยวิธีพิเศษ จะได้เป็น PRP ซึ่งเป็นพลาสมาที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติประมาณ 5–10 เท่า ซึ่งภายในประกอบด้วยโกรธแฟคเตอร์ (Growth Factor) หรือสารที่กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและเซลล์ จึงช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และผิวหนัง
PRP นิยมใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บในนักกีฬา เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด เส้นเอ็นอักเสบ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ อาการปวดจากโรคข้ออักเสบ (Arthritis) และอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ รวมถึงมีการศึกษาใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดหัวใจ ศัลยกรรมเด็ก ศัลยกรรมตกแต่ง และระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
นอกจากนี้ PRP เริ่มได้รับความนิยมในการดูแลผิวหนัง อาทิ กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ ลดริ้วรอยและแผลเป็น ฟื้นฟูผิวให้อ่อนเยาว์ และลดปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia) อีกด้วย
ข้อควรรู้และควรปฏิบัติก่อนฉีด PRP
ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการฉีด PRP มีข้อควรรู้และควรปฏิบัติ ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการฉีด PRP เสมอ ผู้ที่มีภาวะผิดปกติของเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง มีอาการติดเชื้อ หรือรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Blood Thinner) ไม่ควรเข้ารับการรักษาด้วยการฉีด PRP
- ศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉีด PRP เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด การติดเชื้อ เนื้อเยื่อถูกทำลาย และความเสียหายต่อระบบประสาท เป็นต้น
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาหรืออาหารเสริม ในกรณีรับประทานยาที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวอย่าง ยาแอสไพริน (Aspirin) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ควรหยุดรับประทานยาเหล่านี้ก่อนการฉีด PRP
- ไม่ควรอดอาหารก่อนเข้ารับการฉีด PRP เนื่องจากมีการเจาะเลือดและเก็บเลือดบางส่วนไปใช้ หากอดอาหารอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดหรือเป็นลมได้
- ผู้ที่เข้ารับการฉีด PRP เพื่อรักษาปัญหาผมร่วงและผมบาง ควรสระผมก่อนเข้ารับการรักษาและไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมใด ๆ
ขั้นตอนการฉีด PRP
ขั้นตอนการฉีด PRP เริ่มจากการเจาะเลือดจากบริเวณข้อพับแขน ซึ่งปริมาณของเลือดจะขึ้นอยู่กับจุดที่นำไปใช้รักษา เช่น การรักษาปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะอาจเจาะและเก็บเลือดปริมาณ 20 มิลลิตร จากนั้นจะนำเลือดไปปั่นในเครื่อง Centrifuge โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาทีในการคัดแยกและเลือกเฉพาะส่วนของเกล็ดเลือดเข้มข้นที่ประกอบด้วยสารช่วยในการฟื้นฟูผิว
แพทย์อาจวินิจฉัยดูบริเวณที่ฉีด PRP ของผู้เข้ารับการรักษาผ่านการตรวจด้วยภาพ (Imaging Test) อย่างอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และในบางกรณี แพทย์อาจให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการฉีด PRP เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะรับการรักษา จากนั้นจึงฉีด PRP เข้าสู่ส่วนที่ต้องการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
ข้อควรรู้หลังฉีด PRP
โดยทั่วไป ผู้เข้ารับการรักษาสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติหลังการฉีด PRP แต่หากรักษาอาการบาดเจ็บ แพทย์อาจให้งดใช้งานบริเวณที่ฉีดจนกว่าอาการจะดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการรักษาควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดบริเวณที่ฉีด PRP เป็นเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงสามารถใช้ยาสระผม สบู่ ครีมบำรุงผิว และยาทาผิวได้ตามปกติ
หลังจากการฉีด PRP จะเริ่มเห็นผลการรักษาภายใน 2–3 สัปดาห์ ในบางกรณี เช่น การรักษาปัญหาผิวและเส้นผม อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน และผู้เข้ารับการรักษาอาจต้องเข้ารับการฉีด PRP ซ้ำเป็นระยะเพื่อคงประสิทธิภาพในการรักษา
แม้การฉีด PRP มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง แต่บางคนอาจรู้สึกเจ็บหรือมีรอยช้ำบริเวณที่ฉีด ผู้เข้ารับการรักษาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีด PRP เพื่อตรวจและประเมินสภาพร่างกายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากมีอาการเจ็บแปลบหรือปวดอย่างรุนแรงหลังการฉีด PRP ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม