แม้ว่าหลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับกัญชามาบ้าง แต่คงมีหลายแง่มุมที่สงสัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาในทางการแพทย์ อันที่จริงแล้วกัญชาทางการแพทย์คือการนำสารสกัดของกัญชามาใช้ในการบำบัดอาการหรือรักษาโรค รวมถึงใช้ในการวิจัยและผลิตเป็นยา
สารสกัดจากกัญชามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือสาร THC ที่ออกฤทธิ์ในระบบสมองหลายแห่ง ลดอาการปวด กล้ามเนื้อเกร็ง หรืออาการคลื่นไส้ อีกชนิดคือสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabidiol) หรือสาร CBD ที่ช่วยลดความตื่นเต้นตกใจ ต้านอาการความจำเสื่อมหรือการเกิดโรคจิตประสาท ในบางกรณีอาจใช้ต้านฤทธิ์ของสาร THC ด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ยาที่สกัดจากกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคอยู่ 4 รูปแบบ คือ
- ยาแผนปัจจุบันในรูปแบบน้ำมันกัญชา
- ตำรับยากัญชาแผนไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
- น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชาในโครงการวิจัยของกรมการแพทย์และแพทย์แผนไทย
- ตำรับยาที่ปรุงโดยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ซึ่งต้องผ่านการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก
ประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์
การศึกษาพบว่ากัญชาทางการแพทย์สามารถบรรเทาอาการปวด ทั้งอาการปวดแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง รักษาภาวะปวดประสาท ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่เกิดจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคลมชักในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
รวมถึงมีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในการรักษาภาวะเบื่ออาหารของผู้ป่วยโรคเอดส์บางราย ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด หรือมีส่วนช่วยในการประคับประครองอาการของผู้ป่วยบางโรคหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นอกจากนี้ งานวิจัยบางส่วนยังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำกัญชาทางการแพทย์ไปใช้ในการรักษาหรือควบคุมอาการจากปัญหาสุขภาพบางอย่างในอนาคต เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรควิตกกังวลทั่วไป โรคนอนไม่หลับ และโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของกัญชาทางการแพทย์ต่อการรักษาโรคต่าง ๆ ยังบอกไม่ได้แน่ชัด เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้ปลอดภัยต่อการนำมาใช้ในมนุษย์ อีกทั้งผลการศึกษาบางชิ้นเป็นเพียงการศึกษาและทดลองในสัตว์เท่านั้น
ผู้ป่วยจึงไม่ควรมุ่งหวังที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์แทนการรักษาตามมาตรฐานทั่วไป และควรใช้กัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง
ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์
การใช้กัญชาในระยะสั้น ๆ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น
- เวียนหัว หมดสติ
- ปากแห้ง ตาแห้ง
- ง่วงซึม ตอบสนองช้า
- ความดันโลหิตลดต่ำลง
- อารมณ์แปรปรวน
- มีปัญหาด้านการสื่อสารและการจดจ่อ
- สูญเสียความทรงจำในช่วงเวลาสั้น ๆ
- หวาดระแวง วิตกกังวล ซึมเศร้า
ในกรณีที่ใช้กัญชาติดต่อเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดโทษของกัญชาต่าง ๆ เช่น สมองได้รับความเสียหาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางจิตเวชอื่น ๆ และอาจทำให้เสพติดการใช้กัญชาเหมือนสารเสพติดอื่นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ กัญชาอาจเป็นอันตรายกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ ผู้ป่วยโรคหัวใจ อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้น ปรับแผนการรักษาและติดตามอาการระหว่างที่ใช้กัญชาอย่างใกล้ชิด