ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาหารเหลวก่อนการรับประทาน

หลายคนที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร หรือทำหัตถการทางการแพทย์อาจคุ้นเคยหรือรู้จักอาหารเหลวกันมาบ้าง แต่ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือบางคนอาจยังไม่คุ้นเคยกับอาหารชนิดนี้มากนัก บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและการเลือกอาหารเหลวอย่างถูกวิธีมาฝากกัน

โดยทั่วไปอาหารเหลวนั้นเป็นของเหลวหรืออาหารที่มีสีใส ปราศจากการปะปนหรือตกตะกอนของชิ้นส่วนอาหาร บางส่วนอาจเป็นของเหลวที่มีสี แต่ต้องมองทะลุผ่านได้ และอยู่ในรูปของเหลวที่อุณหภูมิห้อง ลักษณะเป็นอาหารย่อยง่ายและไม่ทิ้งกากอาหารที่ย่อยไม่ได้ไว้ในระบบลำไส้ จึงจะนับเป็นอาหารเหลว

Bone,Broth,Made,From,Chicken,With,Vegetables,On,A,Wooden

จุดประสงค์ของการรับประทานอาหารเหลว

อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า อาหารเหลวเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการทางการแพทย์ใด ๆ ที่ต้องเตรียมทางเดินอาหารให้เหมาะสมแต่ยังคงให้สารอาหารจำนวนหนึ่ง โดยจะให้รับประทานก่อนเข้ารับการทดสอบหรือก่อนและหลังการผ่าตัดในระบบย่อยอาหาร อย่างการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อลดกากอาหารภายในระบบย่อยอาหาร ช่วยป้องกันผลการทดสอบคลาดเคลื่อนและสะดวกต่อการผ่าตัด ลดอาการคลื่นไส้หลังการผ่าตัด อีกทั้งยังเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ ท้องเสีย รวมไปถึงผู้ที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน เพื่อลดการระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหาร โดยจะให้รับประทานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ อาหารเหลวยังช่วยรักษาระดับน้ำในร่างกาย เพิ่มปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญอย่างโซเดียมและโพแทสเซียม ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานบางส่วนในขณะที่ไม่สามารถทานอาหารทั่วไปได้อย่างปกติ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารอย่างกระเพาะอาหารและลำไส้ได้พักจากการทำงาน

ตัวอย่างของอาหารเหลวที่สามารถทานได้

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารเหลวที่หลากหลายและหลายมื้อในหนึ่งวัน เพื่อให้ได้รับพลังงานและสารโภชนาการอย่างเหมาะสม โดยตัวอย่างอาหารเหลวที่ผู้ป่วยเลือกรับประทานได้มีดังนี้

  • อาหาร เช่น น้ำซุปใส ซอสมะเขือเทศ น้ำต้มผัก น้ำผึ้ง น้ำตาล เป็นต้น
  • เครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า โซดา น้ำผลไม้ที่ปราศจากเนื้อผลไม้อย่างน้ำแอปเปิลหรือน้ำองุ่นขาว เครื่องดื่มรสผลไม้อย่างน้ำพั้นช์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มเสริมอาหาร กาแฟหรือชาที่ไม่ใส่นมและครีม เป็นต้น
  • อาหารประเภทอื่น ๆ เช่น เจลาติน ลูกอม ไอศกรีมที่ปราศจากนม เนื้อผลไม้ เมล็ดพืชหรือถั่ว เป็นต้น

ทั้งนี้ การทานอาหารเหลวในระยะยาวอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ จึงไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน หรือรับประทานอาหารเหลวตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ได้เข้าข่ายในลักษณะข้างต้น โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีกากหรือเนื้อผลไม้อย่างน้ำพรุน นม และโยเกิร์ต หากต้องรับประทานอาหารเหลวก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหลวใสที่มีสีแดงหรือสีม่วง เพราะอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารเหลวก่อนการทำหัตถการหรือในระหว่างมีปัญหาระบบย่อยอาหาร หากรู้สึกกังวลหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเช่นกัน เพราะอาจต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างการทาน และเปลี่ยนไปทานอาหารปกติให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่ร่างกายจะเอื้ออำนวย