คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องระวัง เนื่องจากอาหารทุกอย่างที่รับประทานหรือการปฏิบัติตัวใด ๆ อาจส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ และถึงแม้จะไม่มีข้อห้ามคนท้องที่ไม่ควรทำอย่างตายตัว แต่เพื่อให้ทารกมีโอกาสคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด ข้อแนะนำต่อไปนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน
ห้ามละเลยนัดฝากครรภ์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์เมื่อรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ โดยการฝากครรภ์ครั้งแรกนั้นควรทำในสัปดาห์ที่ 10 หรืออาจเป็นช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ก็ได้ ในระหว่างนี้ สูตินรีแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประจำเดือนครั้งสุดท้าย ประวัติทางการแพทย์ของคุณแม่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการแพ้ท้องที่เผชิญ และหากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ก็จะถามถึงครรภ์ครั้งก่อนด้วย รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การกิน การออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีการตรวจต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจเลือด และการตรวจวัดความสูงและน้ำหนักเพื่อคำนวนดัชนีมวลกายของคุณแม่
งดแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าในปริมาณเท่าใดก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะปลอดภัยต่อครรภ์ของคุณแม่ เพราะแอลกอฮอล์สามารถส่งผ่านรกไปสู่ลูกน้อยได้อย่างรวดเร็ว คุณแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยหรือดื่มหนักจะส่งผลกระทบต่อสมองและอวัยวะของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดด้านการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับรุนแรง รวมถึงความผิดปกติทางด้านร่างกาย ความผิดปกติต่อระบบประสาทส่วนกลาง และยังมีงานวิจัยที่พบว่าอาจพัฒนาไปเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมในภายหลังด้วย
เลิกสูบบุหรี่และเลี่ยงสูดดมควันบุหรี่มือสอง คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ยังมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่อยู่นั้นมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และการเสียชีวิตของทารกตั้งแต่แรกเกิดได้ นอกจากนี้ควันบุหรี่ที่สูดดมเข้าไป ทั้งที่สูบเองหรือเป็นควันบุหรี่มือสอง ยังอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกเกิดน้อย ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างตั้งครรภ์ยังไม่มีข้อมูลบ่งบอกมากนัก แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงไว้เป็นดีที่สุด เพราะควันจากบุหรี่มักประกอบไปด้วยนิโคตินและสารพิษต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ลดคาเฟอีน อาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนนั้นสามารถรับประทานได้ระหว่างการตั้งครรภ์ แต่การได้รับในปริมาณมาก ๆ ในแต่ละวัน ทั้งคาเฟอีนจากกาแฟ ชา โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือช็อกโกแลต ต่างก็มีความเชื่อมโยงกับโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตรที่เพิ่มมากขึ้น โดยงานวิจัยพบว่าหญิงที่บริโภคคาเฟอีนตั้งแต่วันละ 200 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือเทียบเท่ากับกาแฟสำเร็จรูปตั้งแต่ 2 แก้ว ถ้าเป็นกาแฟชงสดจะเทียบเท่ากับ 1 แก้ว หรือน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนกระป๋อง 355 มิลลิลิตร จำนวน 5 กระป๋อง มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ดื่มคาเฟอีน โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
อาหารที่ไม่ควรรับประทาน สิ่งที่คุณแม่ทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
- เนื้อหรือสัตว์น้ำมีเปลือกที่ปรุงไม่สุกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหอยนางรม หอยกาบ หอยแมลงภู่ และอื่น ๆ เนื้อวัวและสัตว์ปีกที่ไม่ผ่านความร้อนจนสุกหรือปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ รวมถึงไข่ดิบหรืออาหารใด ๆ ก็ตามที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ เหล่านี้ล้วนอาจเจือปนเชื้อท็อกโซพลาสมา สาเหตุของโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง หรือเชื้อซัลโมเนลลาที่เป็นต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษได้
- เนื้อปรุงสำเร็จ เนยแข็งชนิดอ่อน และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพลาสเจอร์ไรซ์ ที่สามารถพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียลิสทีเรียซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เชื้อชนิดนี้เมื่ออยู่ในร่างกายจะสามารถแทรกผ่านรกและแพร่ไปสู่ทารกในที่สุด ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อในมดลูกยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและทำอันตรายต่อทารกจนถึงแก่ชีวิตได้ หากต้องการรับประทานอาหารดังกล่าวจึงควรปรุงด้วยความร้อนอีกครั้งเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน
- ปลาบางชนิดอาจมีสารปรอทในระดับสูง เช่น ปลาอินทรี ส่วนปลาทูน่าที่นิยมรับประทาน บางชนิดก็พบสารชนิดนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ปลอดภัยไว้ก่อนก็ไม่ควรรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป
นอกจากอาหารเหล่านี้ที่ควรเลี่ยงแล้ว คุณแม่ยังควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ทดแทนให้ครบถ้วน 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเน้นผักผลไม้ อาหารโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี และดื่มน้ำให้มาก
ไม่ลืมรับประทานวิตามินที่จำเป็น การรับประทานกรดโฟลิกเป็นสิ่งจำเป็นในหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก คุณแม่อาจรับประทานตั้งแต่ตอนวางแผนตั้งครรภ์ แต่หากยังไม่ได้รับประทานก็ควรเริ่มทันทีที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญที่จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากความพิการทางสมองของทารก สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยปริมาณกรดโฟลิกที่แนะนำต่อวัน คือ 400 ไมโครกรัม นอกจากนี้ สารอาหารสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ยังอาจต้องรับประทานทุกวันเช่นเดียวกันก็คือวิตามิน ดี หรือจะเลือกรับประทานในรูปแบบวิตามินรวมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารประจำวันในสัดส่วนที่เหมาะสมและครบถ้วนก็จะช่วยให้คุณแม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต้องใช้เช่นเดียวกัน
เลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นและตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้ยาทุกชนิด อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แม้ว่ายาชนิดนั้น ๆ จะเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปก็ตาม เพราะยาบางชนิดอาจทำอันตรายหรือส่งผลข้างเคียงร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้ การจะใช้ยารักษาโรค หรือแม้แต่อาหารเสริมและสมุนไพรใด ๆ จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เสียก่อน เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
ห้ามละเลยสัญญาณอันตราย เมื่อครรภ์เริ่มเติบโตขึ้น คุณแม่อาจรู้สึกปวดบีบในท้องในระดับไม่รุนแรงหรือปวดเสียวแปลก ๆ เมื่อมีอาการดังกล่าวให้ระมัดระวังไว้ก่อน โดยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูเสมอ และในกรณีที่มีเลือดออกร่วมกับอาการปวดบีบนั้นจะต้องไปพบแพทย์โดยเร่งด่วนที่สุด
เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง กิจกรรมหรืองานบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อทารกน้อยในท้องได้ เช่น การเล่นกีฬาที่มีแรงปะทะมาก เช่น บาสเกตบอล การดำน้ำลึก รวมถึงการเผชิญสารเคมีอันตรายทั้งหลาย เช่น การทำงานบ้านที่ต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมจากสารเคมีต่าง ๆ
ไม่ควรใส่รองเท้าที่มีส้นสูงเกินไป รองเท้าที่คุณแม่ตั้งครรภ์สวมใส่ไม่ควรมีส้นสูงมากนัก หากต้องการใส่ควรเลือกที่มีความสูงพอประมาณ ทั้งนี้ก็เพราะขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นจะส่งผลให้จุดศูนย์ถ่วงเปลี่ยนไป คุณแม่อาจรู้สึกเดินได้อย่างไม่ค่อยมั่นคงดังเดิมและเสี่ยงต่อการหกล้มได้
อย่าแช่น้ำร้อนหรืออบซาวน่านาน ๆ แม้ว่าการผ่อนคลายด้วยการแช่น้ำร้อนจะเป็นทางเลือกที่หลายคนคิดว่าน่าจะดีในการรับมือกับอาการเจ็บหรือปวดท้องที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงนี้ ทว่าอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้นอาจนำไปสู่ภาวะพิการแต่กำเนิดของลูกน้อยได้ ทางที่ดีจึงควรแช่น้ำแต่พออุ่นแทน
อย่ายืนหรือนั่งนานเกินไป การอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป ไม่ว่าจะท่ายืนหรือท่านั่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้สารพัด เช่น ข้อเท้าบวม หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด คุณแม่ควรพักด้วยการเคลื่อนไหวหรือลุกขึ้นเดินเป็นระยะ ๆ หรือหากต้องยืนนานก็ควรยกขาขึ้นเพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักบ้าง
สำหรับผู้เลี้ยงแมว ควรเลี่ยงการเปลี่ยนทรายแมวด้วยตนเอง เนื่องจากในอุจจาระของแมวอาจปนเปื้อนด้วยเชื้อทอกโซพลาสมา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจากปรสิตชนิดหนึ่ง หากจำเป็นต้องเปลี่ยนทรายแมว ควรทำวันละ 1 ครั้ง เพราะจะใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนจะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าวในทรายแมว โดยระหว่างเปลี่ยนให้สวมถุงมือและล้างมือให้สะอาดดีทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมีผู้อื่นคอยเปลี่ยนทรายแมวให้จะดีกว่า
อย่าเชื่อทุกสิ่งที่ได้ยินมา การรับข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ควรใช้วิจารณญาณและยังไม่ปักใจเชื่อในทันที คุณแม่ควรหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหลาย ๆ แห่งมาเปรียบเทียบเพื่อความแน่ใจ และหากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาหรือสอบถามจากแพทย์จะเป็นการดีที่สุด