ข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสุขภาพบริเวณเข่าที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวหรือใช้ชีวิตประวันลำบาก แม้การรักษาโดยใช้ยาหรือการทำกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการได้ แต่มักให้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจนัก แพทย์จึงอาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดข้อเข่า ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลค่อนข้างดี เพราะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเตรียมพร้อมด้วยการศึกษาขั้นตอนและวิธีดูแลตนเองหลังผ่าตัด เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
จุดประสงค์ของการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเข้ารับการผ่าตัดเมื่อมีอาการเจ็บปวดจนเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ หรือการรักษาอื่น ๆ มีผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้ การผ่าตัดข้อเข่าแต่ละวิธีอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไปทั้งยังขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วยด้วย ซึ่งแพทย์จะอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อให้ผู้ป่วยพิจารณาก่อนตัดสินใจผ่าตัด
ข้อห้ามของการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
แม้การผ่าตัดจะเป็นวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่นับว่าได้ผลดีที่สุด แต่ใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงและต้องไม่อยู่ในกลุ่มที่ห้ามรับการผ่าตัดเข่าซึ่งได้แก่บุคคลดังนี้
- มีข้อเข่าอักเสบชนิดติดเชื้อ
- มีกลไกการยืดเหยียดเข่าผิดปกติ
- มีอาการติดเชื้อในร่างกาย
- มีอาการเข่าแอ่นที่เกิดจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้อโดยรอบ
- มีอาการของโรคหลอดเลือดอย่างรุนแรง
- เคยผ่าตัดเชื่อมเข่าและมีผลที่น่าพึงพอใจอยู่แล้ว
นอกจากนี้ หากมีปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการใช้ยาระงับความรู้สึก หรืออาจส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไม่ดีพอหลังจากการผ่าตัด ไม่ควรรับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม รวมทั้งกลุ่มคนต่อไปนี้
- ผู้ที่มีปัญหาผิวหนังในบริเวณที่จะมีการผ่าตัด เช่น โรคสะเก็ดเงิน
- เป็นโรคข้อเสื่อมที่เกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติ
- ผู้ป่วยโรคอ้วน
- มีประวัติเป็นโรคกระดูกอักเสบบริเวณหัวเข่า
วิธีการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
แพทย์จะพิจารณาว่าการผ่าตัดด้วยวิธีใดเหมาะสมและให้ผลดีแก่ผู้ป่วยมากที่สุด โดยการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่นิยมใช้ ได้แก่
- การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณหัวเข่าเพื่อดูสภาพกระดูกข้อเข่า และค่อย ๆ สอดเครื่องมือเข้าไปกำจัดกระดูกอ่อนที่เสียหายและเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวด ทว่าวิธีนี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระยะสั้นท่านั้น หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องรับการผ่าตัดด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม
- การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก ในกรณีที่ข้อเข่าของผู้ป่วยเกิดความเสียหายเพียงด้านเดียว การผ่าตัดเพื่อปรับแนวและรูปร่างของกระดูกบริเวณขาจะช่วยลดแรงกดทับที่เข่าด้านนั้น ๆ โดยแพทย์จะตัดและเหลากระดูกหน้าแข้งและกระดูกต้นขา เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น อาการเจ็บปวดจะบรรเทาลง และส่งผลให้การทำงานของเข่าดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมซีกเดียว คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้านใน ซึ่งมักใช้กับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมากนัก หรือมีอีกซีกหนึ่งของเข่าและลูกสะบ้าอยู่ในสภาพดี โดยเป็นการผ่าตัดเล็ก ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเดินลงน้ำหนักได้ภายใน 1-2 วัน
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แพทย์จะผ่าตัดกระดูกอ่อนและและกระดูกเข่าที่เสียหายออก แล้วแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมซึ่งทำจากเหล็กหรือพลาสติก วิธีนี้มักใช้รักษาอาการข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงที่ไม่อาจผ่าตัดด้วยวิธีอื่น โดยจะช่วยให้การทำงานของเข่าดีขึ้นและมีผลลัพธ์การรักษายาวนานหลายปี
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดข้อเข้าเสื่อม
ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดจะซักประวัติการรักษาโรคของผู้ป่วย ตรวจดูการเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของเข่า รวมทั้งอาจต้องเอกซเรย์ เพื่อกำหนดขอบเขตของความเสียหายของข้อ ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
ก่อนการผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้ป่วยงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง รวมถึงยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์และกระทบต่อการผ่าตัด เมื่อถึงขั้นตอนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อลดอาการเจ็บปวดและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น โดยทำงานร่วมกับวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ยาชาเพื่อตัดสินใจว่ายาชาประเภทใดเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด เช่น ยาสลบ ที่จะทำให้ผู้ป่วยหมดสติขณะผ่าตัด ยาชาชนิดฉีดเข้าช่องน้ำไขสันหลัง หรือยาชาชนิดฉีดนอกช่องน้ำไขสันหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายตั้งแต่ช่วงเอวลงไปไร้ความรู้สึก จากนั้นจึงผ่าตัดข้อเข่าตามขั้นตอนของแต่ละวิธีที่แตกต่างกันออกไป
การดูแลตนเองหลังผ่าตัด
หลังจากผ่าตัดข้อเข่าแล้ว ผู้ป่วยจะต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 วัน ระหว่างนี้แพทย์จะให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหว และก่อนอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน แพทย์จะตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยลุกขึ้นยืน นั่ง นอน และเข้าห้องน้ำเองได้แล้ว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรอให้ร่างกายฟื้นตัวดีก่อนจะกลับไปทำงานหรือทำกิจกรรมออกกำลังกาย ไม่เช่นนั้นอาจทำให้มีปัญหาในการเดินหรือเกิดอาการเข่าติดได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ แพทย์จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดไปด้วย เพื่อช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของเข่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ไม้ค้ำ อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือที่พยุงข้อเข่า เพื่อช่วยให้เดินได้สะดวกมากขึ้น หลังจากผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดเข่าน้อยลงและทำกิจวัตรประจำวันได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
การเตรียมพร้อมสำหรับการพักฟื้น
การเตรียมตัวสำหรับการพักฟื้นหลังผ่าตัดข้อเข่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อย เพราะหลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยจะเดินหรือเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก และอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วงพยุงตัวขณะเดินด้วย จึงควรให้ญาติหรือบุคคลที่รู้จักมารับในวันที่ออกจากโรงพยาบาลและคอยช่วยดูแลในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หากผู้ป่วยอยู่เพียงลำพัง แพทย์หรือพยาบาลอาจแนะนำให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้นเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ ก่อนผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ญาติควรเตรียมเก็บกวาดและจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ ง่ายต่อการใช้งานและไม่กีดขวางทางเดิน ดังนี้
- จัดพื้นที่บริเวณชั้นล่างของบ้านให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับผู้ป่วย หากเดินขึ้นบันไดลำบาก
- ติดตั้งราวบันไดเพื่อช่วยพยุงตัวระหว่างเดินขึ้นหรือลง
- ติดตั้งราวหรือที่จับในห้องอาบน้ำ
- เก็บพรมหรือสายไฟที่ขวางการเดินและอาจทำให้สะดุดล้ม
- ใช้เก้าอี้ที่แข็งแรงและมีที่วางเท้า เพื่อช่วยให้นั่งสบาย
- เตรียมเก้าอี้สำหรับนั่งขณะอาบน้ำ เพื่อเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน ๆ
- หากชักโครกที่บ้านสูงจากพื้นไม่มาก ควรเสริมเบาะรองนั่งเพื่อช่วยให้ขาไม่อยู่ติดพื้นหรือไม่ต้องงอเข่ามากเกินไปในขณะนั่ง
ความเสี่ยงของการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
แม้การผ่าตัดจะช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ แต่เสี่ยงเกิดอาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้มากที่สุดคืออาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- ภาวะแทรกซ้อนบริเวณกระดูกข้อเข่า
- การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
- พังผืดที่เข่า ทำให้มีอาการเข่าติด
- ข้อเข่าหลุดหลวม
- กระดูกหักหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท