คลอรีน สารทำความสะอาดที่ควรใช้อย่างระวัง

คลอรีน (Chlorine) เดิมทีจะอยู่ในรูปของก๊าซพิษชนิดหนึ่ง โดยสามารถนำมาเปลี่ยนรูปหรือสถานะให้มีความเป็นพิษน้อยลง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกันดีว่าเป็นสารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคภายในสระว่ายน้ำ แต่สารชนิดนี้ยังพบได้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่น้ำยาทำความสะอาดไปจนถึงน้ำประปา

หลายคนเชื่อกันว่าการว่ายน้ำในสระน้ำที่มีคลอรีนผสมอยู่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตาและผิวหนังได้ ไม่เพียงเท่านั้นการสัมผัสกับสารดังกล่าวผ่านการสูดดมหรือรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คลอรีนที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่มักไม่มีอันตรายใด ๆ แต่เพื่อความปลอดภัย จึงควรศึกษาวิธีการใช้ การเก็บ และการรับมือเบื้องต้นเมื่อสัมผัสโดนคลอรีน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารดังกล่าว

คลอรีน

คลอรีน สารฆ่าเชื้อโรค

คลอรีนมีความเป็นพิษที่ค่อนข้างสูง จึงมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือตะไคร่น้ำ ทำให้สารชนิดนี้ถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของสารทำความสะอาดหลายชนิด เช่น สารทำความสะอาดสระน้ำ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาฟอกขาว น้ำยาซักผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังถูกนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานและโรงพยาบาล ใช้ควบคุมความสะอาดในน้ำสำหรับผู้ที่เพาะพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำ ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อในกระบวนการผลิตน้ำดื่ม รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ พลาสติก สี สิ่งทอ และโลหะบางชนิดอีกด้วย

อันตรายจากคลอรีน

อาการที่เกิดจากการสัมผัสคลอรีนอาจแบ่งได้ตามช่องทางในการสัมผัสโดนสาร ดังนี้

การสูดดม

คลอรีนที่หาซื้อได้ทั่วไปมักไม่ได้อยู่ในรูปแบบก๊าซ การสูดดมก๊าซชนิดนี้ส่วนมากอาจเกิดจากอุบัติเหตุในโรงงาน โดยพนักงานโรงงานหรือผู้ที่ทำงานกับก๊าซนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษผ่านทางสูดดม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้ 2 ระดับ คือ 

  • ระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง เป็นระดับที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนโพรงจมูก ช่องปาก และในลำคอ ไอ มีเสมหะเป็นฟองสีขาวหรือปนเลือด เสียงแหบ เสียงหวีด หรือไม่มีเสียง แน่นหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจลำบาก หายใจไม่ออก และอาจทำให้น้ำท่วมปอดได้ ฯลฯ
  • หากเป็นระดับรุนแรงอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติอย่างรุนแรงจนส่งผลให้หายใจไม่ออกและเสียชีวิตได้ในทันที 

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจพบได้ในกรณีที่รับประทานสารคลอรีนที่อยู่ในรูปแบบน้ำจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เช่นกัน นอกจากนี้ การสูดดมสารความเข้มข้นต่ำในระยะยาวอาจทำให้เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ใจสั่น เจ็บหน้าอก หอบหืด ฟันกร่อน ไอเป็นเลือด และการทำงานของปอดผิดปกติ

การสัมผัสทางผิวหนัง

การสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหรือสัมผัสกับตัวสารโดยตรงก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซึ่งความผิดปกตินั้นแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลางที่ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง แสบร้อน อักเสบ หรือเป็นแผลพุพองบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับสารเคมี ส่วนระดับรุนแรงอาจทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณนั้นเกิดความเสียหาย จนทำให้เกิดอาการแสบร้อนอย่างรุนแรงและอาจทำให้เซลล์ผิวหนังตายได้ด้วย

การสัมผัสบริเวณดวงตา

อาการบริเวณดวงตาจากการสัมผัสโดนสารคลอรีนแบ่งได้เป็น 2 ระดับเช่นกัน คือ ระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง ทำให้เกิดอาการแสบร้อนในดวงตา ตาแดง ตากระตุก กระพริบตาถี่ และมีน้ำตาไหล ส่วนอาการระดับรุนแรงอาจส่งผลให้กระจกตาเป็นแผล ซึ่งความเสียหายของเซลล์กระจกตาอาจทำให้เซลล์บริเวณนั้นตายจนส่งผลต่อการมองเห็นและตาบอดได้

ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของอาการนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของสารเคมีและปริมาณที่ได้รับ แม้ว่าจะเป็นอาการที่อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงและระดับปานกลางก็ควรไปพบแพทย์หลังการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกัน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับคลอรีน

ก่อนการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารคลอรีน ผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อป้องกันตนเองได้รับสารพิษ หากเป็นเหตุฉุกเฉินอาจใช้ผ้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันก๊าซ จากนั้นให้พาผู้ป่วยที่โดนสารพิษออกจากสถานที่ที่มีการรั่วไหล

ผู้ที่ผิวหนังสัมผัสโดนคลอรีนให้ใช้น้ำสะอาดล้างออกทันที ในกรณีที่เป็นดวงตาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 นาที หากผิวหนังเกิดบาดแผลให้ทำแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรคและรีบไปโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่สูดดมก๊าซเข้าไปให้นำตัวส่งโรงพยาบาลทันที โดยในระหว่างพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลควรหมั่นตรวจสอบการหายใจและชีพจรอยู่เสมอ

วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคลอรีน

บุคคลบางกลุ่มที่ต้องทำงานเสี่ยงต่อการสัมผัสโดนสารคลอรีนหรือสารที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงงาน พนักงานบำบัดน้ำเสีย ผู้ทำฟาร์มปศุสัตว์ บ่อเลี้ยงปลาหรือเลี้ยงกุ้ง ควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก รวมทั้งควรสวมถุงมือ เสื้อคลุม หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐาน เพราะคนกลุ่มนี้มักต้องใช้สารที่มีความเข้มข้นสูงกว่าคนทั่วไปในการทำความสะอาดภายในครัวเรือนหรือการทำงาน

สำหรับคนทั่วไปอาจป้องกันภาวะเป็นพิษจากสารคลอรีนได้ด้วยหลักการง่าย ๆ ต่อไปนี้

1. สวมถุงมือและหน้ากากอนามัยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เคมีเสมอ

2. ใช้และเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบอย่างระมัดระวัง

3. สวมแว่นตาว่ายน้ำทุกครั้งเมื่อว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ

4. ไม่ควรปล่อยให้ตัวแห้งหลังจากขึ้นจากสระว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้สารเคมีสะสมบนผิวหนัง และควรล้างตัวด้วยน้ำสะอาดทุก ๆ ครั้งเมื่อขึ้นจากสระว่ายน้ำถึงแม้จะกลับไปว่ายน้ำต่ออีกครั้ง 

5. หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนร่วมกับสารที่เป็นกรดหรือด่างชนิดอื่น เพราะจะทำให้เกิดก๊าซพิษได้

การใช้คลอรีนที่มีความเข้มข้นต่ำในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มักไม่ทำให้เกิดอาการที่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจแพ้คลอรีนจากน้ำประปาหรือน้ำในสระว่ายน้ำ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารดังกล่าวต่อเนื่องกันเป็นประจำ ควรเข้ารับการตรวจจสุขภาพเป็นประจำ