คุณรู้จักโรคคลั่งผอมหรืออะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) ไหม? ผอมเท่ากับสวย เป็นค่านิยมที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ค่านิยมนี้สร้างความเครียดและความกดดันให้หลายคนต้องลดน้ำหนักหรือสรรหาวิธีให้ตนเองผอมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งพฤติกรรมและความกังวลที่เกิดจากความอยากผอมอาจนำไปสู่โรคคลั่งผอมได้
โรคคลั่งผอมเป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งและจัดอยู่ในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคนี้มักหมกมุ่นอยู่กับน้ำหนักและสัดส่วนร่างกาย มักมีทัศนคติไม่ดีต่อร่างกายของตนเอง และรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า หากไม่สามารถคุมน้ำหนักหรือความอยากอาหารได้ ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมมักอดอาหารและออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตราย
ที่มาของโรคคลั่งผอม
ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดและแน่นอนของโรคคลั่งผอม แต่เชื่อกันว่าโรคนี้มักเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับรูปร่าง น้ำหนัก หรือพฤติกรรมการกินของตนเอง โดยอาจถูกล้อเรื่องน้ำหนักและรูปร่าง ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจหรือเกิดปมด้อยในตนเอง จนนำไปสู่ความรู้สึกเกลียดตนเอง ความรู้สึกไร้ค่า และความต้องการที่จะลดน้ำหนักอย่างรุนแรง รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมในสังคมก็อาจส่งผลได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจหรืออ่อนไหว อย่างเปลี่ยนงาน ย้ายที่อยู่ เลิกกับแฟน หย่าร้าง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมที่คาดว่าเป็นผลมาจากรูปร่างหน้าตาก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคคลั่งผอมได้
สำหรับใครที่มีภาวะผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Personality) โรคเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ (Perfectionist) ที่หมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ และผู้ที่มีภาวะขาดความมั่นใจในตนเองก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคคลั่งผอม และโรคการกินผิดปกติอื่น ๆ
ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกว่า หากคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคการกินผิดปกติ อย่างโรคคลั่งผอม โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) หรือโรคกินแล้วล้วงคออ้วก และโรคกินมากเกินไป (Binge Eating Disorder) คนรุ่นต่อไปก็อาจมีพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อโรคประเภทนี้
ตามสถิติในต่างประเทศ โรคคลั่งผอมพบได้น้อยและในไทยอาจน้อยกว่านั้นมาก จากผลของการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคคลั่งผอมได้สูงกว่าผู้ชายมาก ประกอบกับรายงานที่ชี้ว่าในผู้ป่วยโรคคลั่งผอม 10 คน อาจมีผู้ป่วยชายเพียง 1 คนเท่านั้น อีกทั้งโรคนี้มักพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคคลั่งผอม?
คนที่ป่วยด้วยโรคอะนอเร็กเซียมักมีความคิด พฤติกรรม และสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้
ความผิดปกติด้านความคิด
คนที่เป็นโรคคลั่งผอมอาจมีลักษณะความคิดและความรู้สึกต่อไปนี้
- กลัวน้ำหนักขึ้น กลัวอ้วน ความกลัวนี้ไม่ได้มีลักษณะความกลัวทั่วไปเหมือนเวลาเราไปกินบุฟเฟ่ต์แล้วจะอ้วน แต่จะกลัวถึงขั้นตื่นตระหนกว่าการกินอาหารมื้อธรรมดาก็จะทำให้อ้วนหรือน้ำหนักขึ้นได้ทันที ซึ่งเป็นความกลัวที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ
- มองตนเองในแง่ลบ โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนรูปร่าง
- อยากจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในทุก ๆ ด้าน
- เกิดความรู้สึกทางลบบ่อย ๆ เช่น เครียด กังวล หงุดหงิด เศร้า เหงา ไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือไม่ดีพอ
ความผิดปกติด้านพฤติกรรม
รูปแบบความคิดและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมในลักษณะต่อไปนี้
- อดอาหาร ผู้ป่วยมักกินอาหารในปริมาณที่น้อยมากและมักกินอาหารไม่ครบมื้อ หากอยู่กับคนอื่นมักหาข้ออ้างเพื่อที่จะไม่กินอาหาร และมักไม่อยากกินอาหารเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น
- ออกกำลังกายอย่างหนักอยู่เป็นประจำจนถึงขั้นหมกมุ่น
- หากเผลอกินอาหารมากกว่าปกติอาจล้วงคอเพื่อให้ตนเองอาเจียนออกมา
- เคี้ยวอาหารแล้วคายทิ้ง
- ใช้ยาถ่าย ยาลดความอ้วน และอาหารเสริมลดน้ำหนัก
- ชั่งน้ำหนักตัวหรือส่องกระจกวันละหลายรอบเพื่อดูน้ำหนักตัวหรือสัดส่วนว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่
- มักพูดหรือบ่นเรื่องน้ำหนักตัว รูปร่าง และความอ้วนอยู่เป็นประจำ
- เข้าสังคมน้อยลง ไม่สุงสิงกับใคร และสนใจสิ่งที่ชอบน้อยลง
ความผิดปกติด้านร่างกาย
ความคิดและพฤติกรรมของโรคคลั่งผอมมักทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
- น้ำหนักลดลงอย่างมาก หากเป็นวัยรุ่นร่างกายมักไม่พัฒนาตามช่วงวัย
- ร่างกายซูบผอม อาจรุนแรงถึงขั้นหนังหุ้มกระดูก
- ผมบาง ขาดง่าย และผมร่วงรุนแรง
- ประจำเดือนขาด หรือมาไม่ปกติ
- อารมณ์ทางเพศลดน้อยลง
- รู้สึกคล้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เวียนหัว เป็นลม และนอนไม่หลับ
- ปากแห้ง ผิวแห้ง เล็บม่วง ตัวเหลือง แขนขาบวม ขี้หนาว
- ฟันสึก เหงือกอักเสบ และเป็นโรคในช่องปากจากการล้วงคออ้วก
ความรู้สึกกลัวเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างอย่างรุนแรงอาจเป็นสัญญาณหลักของโรคนี้ หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีทัศนคติหรือความคิดต่อตนเองที่เปลี่ยนไป อาจค่อย ๆ เพิ่มความมั่นใจด้วยวิธีต่าง ๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเกิดโรค อย่างไรก็ตาม การมีความคิดและพฤติกรรมในรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเสมอไป เพราะในทางการแพทย์มักจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคคลั่งผอมเมื่อบุคคลนั้นมีสัญญาณเหล่านี้ติดต่อกันนานหลายเดือน
ทำไมโรคคลั่งผอมถึงควรได้รับการรักษา?
ความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรมอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในชีวิต ทั้งการเรียน การทำงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรัก นอกจากนี้ โรคการกินผิดปกติก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคผิดปกติทางอารมณ์ อย่างโรคซึมเศร้า โรคเครียดที่อาจทำให้เกิดการใช้สารเสพติด การติดเหล้า หรืออาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ อีกทั้งการขาดสารอาหารยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่างตามมา
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมหรืออะนอเร็กเซียจึงควรเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม และให้แพทย์รักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมา โดยแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของตนเองมากขึ้น รวมทั้งแนะนำวิธีในการควบคุมความรู้สึกด้านลบเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
หากต้องการลดน้ำหนักตัวและสัดส่วน ควรศึกษาวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หรือปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ช่วยวางแผนลดน้ำหนัก
สุดท้ายนี้ โลกของเราในปัจจุบันให้ความหมายของความสวยงามในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะตัวใหญ่ อวบ สมส่วน หรือผอม ทุกคนต่างมีสิทธิและคุณค่าในแบบของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงควบคู่ไปด้วย คือ สุขภาพที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยและคุณภาพชีวิตที่ลดลง