ความจำสั้นเป็นเรื่องปกติไหม แก้ไขยังไงดี

ความจำสั้นเป็นปัญหาในการประมวลผลของสมองที่พบได้ทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาการความจำสั้นมักจะเป็นการที่จู่ ๆ ก็ลืมเรื่องราว สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน แม้จะเป็นเรื่องที่พบทั่วไป แต่ก็สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจได้ไม่น้อย ทั้งยังต้องใช้ความคิดอย่างมากเพื่อเรียกความทรงจำนั้นกลับมา

แม้ว่าส่วนใหญ่อาการความจำสั้นมักไม่ร้ายแรง แต่ก็อาจเป็นสัญญาณว่าการทำงานของสมองมีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้น และเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้สูงอายุ เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้

ความจำสั้นเป็นเรื่องปกติไหม แก้ไขยังไงดี

ความจำสั้นเกิดจากอะไร

ปัญหาความจำสั้นโดยทั่วไปอาจเป็นผลมาจากการติดขัดของสมองในการประมวลผลด้านความจำ ซึ่งปัจจัยการใช้ชีวิตบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงและความถี่ของปัญหาความจำสั้นได้ เช่น 

  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเครียด
  • การขาดสมาธิ
  • ผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด
  • ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินบี 1 และวิตามินบี 12
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาภาวะวิตกกังวล ยาคลายกล้ามเนื้อ 

แต่บางครั้งอาการความจำสั้นก็อาจเป็นผลมาจากสาเหตุที่รุนแรงกว่านั้น เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ภาวะขาดการนอนหลับ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะและสมอง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ เนื้องอกในสมอง โรค TGA (Transient Global Amnesia) หรืออาการความจำเสื่อมระยะสั้นชั่วขณะ และโรคสมองอื่น ๆ

สาเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้นและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

สัญญาณความจำสั้นที่พบได้บ่อยและอาการที่ควรไปพบแพทย์

ปัญหาความจำสั้นที่พบในชีวิตประจำวันมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะต่อไปนี้

  • ถามคำถามเดิมซ้ำ หรือพอถามไปแล้วจึงนึกได้ว่าเคยถามแล้ว
  • นึกคำที่ต้องการจะพูดไม่ออก เหมือนติดอยู่ที่ริมฝีปาก
  • ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าเงิน กุญแจบ้าน
  • ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน
  • ลืมสิ่งที่เพิ่งเห็นหรือเพิ่งอ่านไปไม่นาน
  • ลืมสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ เช่น ลืมนัด ลืมจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ลืมงานสำคัญ

ลักษณะของอาการความจำสั้นเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่พบได้บ่อย บางคนอาจพบอาการเกี่ยวกับความจำในลักษณะอื่นได้ด้วยเช่นกัน แต่จะพบเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น โดยอาการเหล่านี้ก็อาจพบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่นอกจากปัญหาเรื่องความจำแล้ว บางครั้งการใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็อาจทำให้ลืมอีกสิ่งหนึ่งไปได้เช่นกัน

ในบางคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจพบอาการด้านความจำที่รุนแรงต่อไปนี้ได้

  • ถามคำเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกในลักษณะที่ถี่ผิดปกติ
  • หลงทางในพื้นที่ที่คุ้นเคย เช่น ในชุมชนหรือหมู่บ้านที่พักอาศัย
  • พบปัญหาในการทำกิจกรรมที่คุ้นเคยและต้องใช้เวลาทำกิจกรรมนั้นนานกว่าปกติ เช่น การทำอาหาร การทำงานบ้าน 
  • สับสนหรือมีความจำที่ไม่แน่ชัดเกี่ยวกับเวลา ผู้คน และสถานที่ โดยอาจจำไม่ได้หรือจำสลับกัน 
  • ลืมกิจวัตรที่เคยทำ เช่น ลืมกินข้าว ลืมอาบน้ำ หรือทำสิ่งที่เป็นอันตราย คล้ายกับไม่มีสติหรือไม่สามารถจดจำและตระหนักรู้ถึงอันตราย
  • มีปัญหาในการประเมินและการตัดสินใจอยู่บ่อยครั้ง
  • ไม่สามารถดูแลค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือไม่สามารถรับผิดชอบงานที่มีเวลาเป็นตัวกำหนดได้
  • ลืมวันเวลา เช่น เข้าใจผิดว่าปีปัจจุบันเป็นหลายปีก่อน ไม่เข้าใจการเรียงลำดับวันเดือนปี
  • มีปัญหาด้านการพูด สื่อสารไม่ได้เพราะนึกคำไม่ออกแม้จะเป็นคำง่าย ๆ และใช้คำผิดความหมาย เช่น เรียกโต๊ะว่าเตียง เรียกแก้วว่าจาน
  • วางของหรือเก็บของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ ส่งผลให้หาของไม่พบ เช่น เก็บรีโมตทีวีไว้ในตู้เสื้อผ้า

หากพบสัญญาณของปัญหาด้านความจำและสมองเหล่านี้ ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคทางสมองและปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้

วิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลจากปัญหาความจำสั้น

ปัญหาความจำสั้นในชีวิตประจำวันอาจลดความเสี่ยงและความถี่ได้ด้วยการดูแลตนเอง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเสมอ

การดูแลสุขภาพทำได้หลายวิธี โดยเริ่มต้นจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์ไขมันต่ำและปลาทะเลที่มีโปรตีน สารอาหารกลุ่มวิตามินบี แร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง และผักผลไม้ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมและรักษาการทำงานของสมอง

นอกจากนั้น ยังควรพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เพราะขณะนอนหลับสมองจะได้พักผ่อนและฟื้นฟูตัวเอง ทั้งยังช่วยจัดเรียงความคิดความทรงจำ ซึ่งการนอนหลับอย่างเพียงพอเป็นประจำจะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกกดด้วยความรู้สึกง่วง ส่งผลให้สมองปลอดโปร่ง และประมวลผลได้ดี

มีข้อมูลที่ชี้ว่าการออกกำลังกายอาจส่งผลดีต่อความจำและระบบความคิด ช่วยในการนอนหลับ ผ่อนคลายความเครียด และเมื่อทำเป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังหลายโรค รวมทั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบความจำด้วย

2. ออกกำลังกายสมอง

นอกจากการดูแลให้สมองทำงานได้เป็นปกติแล้ว การออกกำลังกายหรือฝึกสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นประจำอาจส่งผลดีต่อระบบความจำและการประมวลผลของสมองด้วย โดยอาจฝึกสมองด้วยการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เช่น การเรียนภาษา การเล่นกีฬา การฝึกทักษะด้านต่าง ๆ รวมทั้งการเล่นเกมไขปริศนาหรือเกมอื่น ๆ ที่กระตุ้นการทำงานของสมอง

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการแบ่งคนจำนวน 51 คนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้เล่นเกมฝึกสมอง ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้เล่นเกมดังกล่าว โดยให้กลุ่มแรกเล่นเกม 15 นาที/วัน ต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ เมื่อเทียบผลระหว่างก่อนและหลังเล่นเกมฝึกสมอง กลุ่มที่ได้เล่นเกมมีกระบวนการคิดที่พัฒนาขึ้นเมื่อเทียบกับผลทดสอบก่อนเล่นเกม จึงอาจเป็นไปได้ว่าการฝึกสมองอย่างต่อเนื่องส่งผลดีต่อสมอง

แต่ผู้วิจัยเองก็ได้ทิ้งท้ายว่า การศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของสมองจากการเล่นเกมนั้นยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่ม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพและกลไกที่เกมส่งผลต่อสมอง

3. ปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความจำสั้น

หากรู้สึกว่าปัญหาดังกล่าวรบกวนจิตใจอยู่บ่อย ๆ อาจลองปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้วยเทคนิคต่อไปนี้

  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเคยชินและจดจำได้
  • ใช้ตัวช่วย เช่น การทำแผนงาน การทำรายการของที่ต้องซื้อหรือสิ่งที่ต้องทำ การเขียนโน้ต การดูปฏิทิน และการตั้งแจ้งเตือนในโทรศัพท์
  • วางของที่ใช้ประจำ เช่น โทรศัพท์ กระเป๋าเงิน กุญแจบ้าน หรือรีโมตทีวี ไว้ที่เดิมเสมอ

4. ลองใช้อาหารเสริมบำรุงสมอง

บางคนเชื่อว่า นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งอาจช่วยบำรุงสมองได้แล้ว การใช้อาหารเสริมเพื่อเติมสารอาหารที่ร่างกายขาดอาจเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้เช่นกัน เพราะคนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางประเภทมากกว่าคนอื่น

โดยอาหารเสริมที่เชื่อว่าอาจส่งผลดีต่อการการบำรุงสมองมีหลายชนิด เช่น น้ำมันปลา กรดไขมันโอเมก้า 3 สารสกัดแปะก๊วย และสารอาหารกลุ่มวิตามินบี

อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมบำรุงสมองส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงประโยชน์ที่แน่ชัด จึงไม่ควรใช้เพื่อคาดหวังผลการรักษาหรือป้องกันโรค และที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพราะอาหารเสริมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาโรค คนท้อง และคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก

5. รักษาโรคอื่น ๆ

โรคและปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะซึมเศร้า การติดสารเสพติด การติดแอลกอฮอล์ โรคสมอง และการบาดเจ็บสามารถทำให้เกิดปัญหาด้านความจำทั้งระดับไม่รุนแรงและรุนแรงได้ หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติบ่อยครั้งแต่หาสาเหตุไม่ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับรักษาอย่างเหมาะสม

ส่วนคนที่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัว ทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับความจำ ก็ควรดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ และไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอยู่เสมอ เพราะจะช่วยรักษา บรรเทา และควบคุมอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความจำสั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงเสมอไป แต่ก็ไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพร่างกายและสมองอย่างเหมาะสม และหากอาการความจำสั้นเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน ลืมบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้สูงอายุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งหลายสาเหตุของปัญหาด้านความจำนั้นรักษาและควบคุมได้