คอฟันสึก (Abfraction) เป็นภาวะผิดปกติทางฟันชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้คอฟันหรือฟันส่วนที่อยู่ติดกับเหงือกเกิดการกร่อนหรือสูญเสียเนื้อฟันไปบางส่วน โดยเฉพาะผิวฟันด้านที่อยู่ติดกับกระพุ้งแก้มส่วนใหญ่แล้วภาวะคอฟันสึกมักไม่ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงใด ๆ ยกเว้นบางกรณีที่อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ร้อนหรือเย็นจัด
คอฟันสึกเป็นภาวะที่มักพบได้ในคนที่มีอายุระหว่าง 20–70 ปี แต่จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยช่วงแรกที่มีภาวะคอฟันสึกเล็กน้อยมักจะไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ภาวะคอฟันสึกอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นเกี่ยวกับฟันตามมา ทั้งการสูญเสียผิวฟันและชั้นเคลือบฟัน ความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ ไปจนถึงการเกิดภาวะฟันโยกและการสูญเสียฟันได้
สาเหตุของคอฟันสึก
ภาวะคอฟันสึกเกิดจากการที่ฟันได้รับแรงกดหรือการขัดถูอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานาน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น
- พฤติกรรมการกัดฟันหรือการนอนกัดฟันบ่อย ๆ
- ปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ
- ฟันสูญเสียแร่ธาตุจากการถูกสารบางชนิดที่เป็นกรดหรือสารขัดฟัน
- การแปรงฟันผิดวิธี เช่น การแปรงฟันที่แรงเกินไป การเลือกใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงแข็งจนเกินไป หรือการใช้ยาสีฟันบางชนิดที่ผสมผงขัดฟัน
นอกจากสาเหตุข้างต้น ในบางกรณีภาวะคอฟันสึกอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุได้เช่นกัน
ภาวะคอฟันสึกรักษาได้หรือไม่
โดยทั่วไป ผู้ป่วยภาวะคอฟันสึกที่ไม่รุนแรงหรือคอฟันเกิดการสึกเพียงเล็กน้อย ทันตแพทย์มักนัดผู้ป่วยมาตรวจฟันเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามอาการเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใด ๆ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือทันตแพทย์เห็นว่าควรได้รับการรักษา ทันตแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ สาเหตุ และความเหมาะสมต่อผู้ป่วย โดยวิธีที่ทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้ในการรักษา เช่น
- การรักษาด้วยการอุดฟัน โดยเฉพาะกรณีที่ทันตแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีอาการเสียวฟัน หรือทำความสะอาดลำบาก
- การใส่เฝือกสบฟันสำหรับผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟัน
- การใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารโพแทสเซียมไนเตรท (Potassium Nitrate) หรือสารซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ (Silver Diamine Fluoride) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเสียวฟัน
- การจัดฟันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ
- การรักษารากฟันร่วมกับการอุดฟัน หรือครอบฟัน เพื่อบรรเทาอาการปวดฟันในกรณีที่คอฟันสึกถึงโพรงประสาทฟัน
นอกจากการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ทันตแพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างร่วมด้วย เช่น หลีกเลี่ยงการแปรงฟันที่รุนแรงเกินไป เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ใช้เจลลดอาการเสียวฟัน รวมถึงแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นระยะ
ทั้งนี้ แม้วิธีการรักษาบางอย่างอาจจะช่วยบรรเทาภาวะคอฟันสึกและอาการเสียวฟันที่เกิดขึ้นได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถช่วยรักษาสภาพฟันที่เกิดการกร่อนหรือการสูญเสียเนื้อฟันบางส่วนให้กลับไปเป็นอย่างเดิมได้
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีการป้องกันคอฟันสึกและปัญหาทางช่องปากที่ดีที่สุด เช่น การแปรงฟันให้ถูกวิธี การเลือกแปรงให้เหมาะสม การใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมเพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก ๆ 6–12 เดือน และที่สำคัญควรรีบไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบการเกิดภาวะคอฟันสึก