อาการคันช่องคลอดหรือคันบริเวณปากช่องคลอดอาจทำให้สาว ๆ หลายคนเกิดความรำคาญและรู้สึกหงุดหงิด ซึ่งสาเหตุของอาการคันบริเวณจุดซ่อนเร้นนั้น อาจเกิดจากการสวมใส่กางเกงในที่รัดเกินไป หรือปัญหาสุขภาพร้ายแรงอย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากมีอาการคันช่องคลอดเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
สาเหตุของอาการคันช่องคลอด
อาการคันช่องคลอดอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้
ปัญหาสุขภาพ
- วัยทอง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนลดลง ทำให้เมือกที่เคลือบช่องคลอดบางลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้งจนอาจทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้
- โรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิดอาจทำให้ผิวบริเวณจุดซ่อนเร้นเกิดอาการคันและแดง เช่น โรคผิวหนังอักเสบที่มักเกิดกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือโรคหืด โดยอาจมีผื่นแดงคันหรือตกสะเก็ด และอาการอาจลุกลามไปยังช่องคลอด หรือโรคสะเก็ดเงินที่มักทำให้ผิวหนังตกสะเก็ด มีอาการคันหรือแดงบริเวณหนังศีรษะและตามข้อพับต่าง ๆ เป็นต้น
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นภาวะที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของแบคทีเรียชนิดที่ดีและไม่ดีซึ่งอยู่ภายในช่องคลอด โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ คันบริเวณช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาจมีลักษณะบาง เป็นสีขาว เทาขุ่น หรือเป็นฟอง
- การติดเชื้อรา เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อราในช่องคลอดที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการคัน รู้สึกแสบร้อน และอาจมีตกขาวลักษณะเป็นก้อนไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เพราะยาดังกล่าวจะทำลายแบคทีเรียชนิดที่ดีที่ช่วยควบคุมจำนวนของเชื้อราในช่องคลอด
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันอาจเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หนองในแท้ หนองในเทียม หูด หรือเริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวมีสีเหลืองหรือสีเขียว รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะ เป็นต้น
- มะเร็งปากช่องคลอด อาการคันช่องคลอดอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากช่องคลอดได้ ซึ่งบางรายอาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลย แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งปากช่องคลอดอาจมีอาการคันช่องคลอด มีเลือดออก และรู้สึกเจ็บบริเวณปากช่องคลอด อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม ก็อาจรักษาให้หายขาดได้
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้น การกำจัดขนด้วยวิธีการโกนบริเวณจุดซ้อนเร้นอาจทำให้รู้สึกคันเมื่อขนเริ่มงอกใหม่อีกครั้ง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาปัญหาจากการกำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศพบว่า ผู้หญิงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกคันอย่างรุนแรงหลังจากการโกนขนออก ทั้งนี้ อาจใช้วิธีกำจัดขนด้วยการเล็มหรือแวกซ์ขนแทน เพื่อป้องกันอาการคันบริเวณช่องคลอด
- การใช้สารเคมี สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคืองจนส่งผลให้คันบริเวณช่องคลอดได้ เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือกระดาษชำระ เป็นต้น
- ความเครียด แม้ว่าจะเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย แต่ภาวะเครียดอาจทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดได้เช่นกัน เนื่องจากความเครียดอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อและอาการคันได้ง่ายขึ้น
- การทำกิจกรรรมต่าง ๆ กิจกรรมบางอย่างก็อาจทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดได้ เช่น ปั่นจักรยาน ขี่ม้า หรือสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดเกินไป เป็นต้น
แนวทางการบรรเทาอาการคันช่องคลอดด้วยตัวเอง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและดูแลสุขอนามัยของตนให้ดีอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการคันช่องคลอดได้ ดังนี้
- ล้างจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุ่นและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว แต่ไม่ควรล้างมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน เพราะอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง
- เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกหลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกายทันที
- รับประทานโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อราในช่องคลอด
- เลือกใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย และเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน
- เช็ดทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระจากด้านหน้าไปหลังเท่านั้น
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หากช่องคลอดแห้ง ควรใช้เจลหล่อลื่นก่อนมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันช่องคลอดจะดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัย กระดาษชำระ สบู่ ครีมบำรุงผิว หรือโฟมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เช่น สเปรย์ หรืออุปกรณ์สวนล้างช่องคลอด เป็นต้น
- ห้ามเกาผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น เพราะอาจทำให้การระคายเคืองรุนแรงขึ้น
อาการที่ควรไปพบแพทย์
แม้ว่าอาการคันช่องคลอดจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีแผลบริเวณช่องคลอด
- มีปัญหาในการปัสสาวะ
- มีตกขาวลักษณะผิดปกติออกมาจากช่องคลอด
- มีอาการบวมหรือแดงบริเวณจุดซ่อนเร้น
- รู้สึกเจ็บหรือคัดตึงบริเวณจุดซ่อนเร้น
- รู้สึกไม่สบายตัวขณะมีเพศสัมพันธ์