คันหัว สาเหตุและวิธีดูแลรักษา

คันหัว คืออาการระคายเคืองบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกอยากเกาหนังศีรษะ บางคนอาจมีอาการหนังศีรษะลอกเป็นขุยหรือเป็นสะเก็ด ผิวแดง แสบร้อน จับแล้วรู้สึกอุ่น หรือมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ

อาการคันหัวพบได้บ่อย แต่โดยทั่วไปมักจะไม่มีความรุนแรง โดยเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่พบได้ทั่วไปที่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการใช้สเปรย์ แชมพู และผลิตภัณฑ์อื่นที่มีส่วนผสมของตัวยา ไปจนถึงสาเหตุที่มีความรุนแรงและอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์โรคผิวหนังเพื่อรักษา

คันหัว

สาเหตุของอาการคันหัว

คันหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคือรังแค (Dandruff) ซึ่งเกิดจากเชื้อราบนหนังศีรษะเจริญเติบโตมากผิดปกติ สภาพอากาศ หรือความเครียด ซึ่งก่อให้เกิดอาการคัน แดง หรือมีสะเก็ดสีขาวลักษณะแบนและบางที่เส้นผมหรือหนังศีรษะ

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคันหัว ได้แก่

  • เป็นผู้ที่มีหนังศีรษะบอบบางแพ้ง่าย
  • ผู้ที่เป็นผื่นแพ้สัมผัสหรือผื่นระคายสัมผัส เนื่องจากหนังศีรษะสัมผัสกับสารหรือผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น แชมพู
  • สภาพแวดล้อมที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น อยู่ในห้องที่มีอากาศเย็นและมีความชื้นต่ำ หรือสัมผัสกับลมและแสงแดด
  • เป่าผมด้วยไดร์เป่าผมเป็นประจำ หรือหนังศีรษะได้รับสารเคมีรุนแรงเป็นประจำ เช่น ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม หรือผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมต่าง ๆ
  • ปฏิกิริยาแพ้ต่อยารักษาโรคบางชนิด
  • โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ทำให้ผิวลอกเป็นสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง มีผื่นแดง และคัน พบบ่อยบริเวณที่มีต่อมไขมัน เช่น หนังศีรษะ หัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู เปลือกตา และหน้าอก เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อยีสต์บนผิวหนัง
  • เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือกลากบนหนังศีรษะ เป็นภาวะที่เชื้อราได้กระจายตัวลึกลงไปยังรูขุมขน ก่อให้เกิดอาการคันที่หนังศีรษะและอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
  • เหา (Head Lice) เป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยตามร่างกายคนหรือสัตว์ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยการดูดเลือดเป็นอาหาร โดยผู้ที่เป็นเหาไม่ได้หมายความว่าขาดสุขอนามัยที่ดี เพราะเหาจะชอบอยู่บนผมที่มีความสะอาดมากกว่า
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการคันและมีผิวหนังตกสะเก็ด คล้ายกันกับรังแคแต่จะมีความรุนแรงกว่า

การดูแลรักษาเมื่อมีอาการคันหัว

อาการคันศีรษะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น

รังแค

สำหรับกรณีที่เป็นไม่มาก สามารถดูแลรักษาอาการได้ ดังนี้

  • ใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% พ่นให้ทั่วหนังศีรษะโดยไม่ต้องล้างออก สเปรย์จะออกฤทธิ์ครอบคลุมบริเวณที่เป็นรังแคได้อย่างทั่วถึง ซึมเข้าสู่หนังศีรษะได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งกลิ่นยา เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นยาติดศีรษะจากการใช้แชมพูยาขจัดรังแค
  • ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของตัวยาที่ช่วยควบคุมเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล 2% ซีลีเนียม (Selenium) ซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) และทีทรีออย (Tea Tree Oil)

กรณีที่เป็นมาก อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่สั่งโดยแพทย์ เช่น แชมพูต่อต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโซนใช้เฉพาะที่ ยาชนิดโฟม ยาสารละลาย ยาครีมหรือขี้ผึ้ง 

ItchingScalpILP

เหาบนศีรษะ

รักษาได้ด้วยการใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบของไพรีทริน (Pyrethrins) หรือเพอร์เมทริน (Permethrin) หรือยากำจัดเหาที่สั่งโดยแพทย์ รวมไปถึงใช้หวีสางเหาร่วมกับการใช้ยา

โรคเซ็บเดิร์ม

การรักษาเซ็บเดิร์มหรือโรคต่อมไขมันอักเสบ ใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% พ่นให้ทั่วบริเวณที่มีอาการโดยไม่ต้องล้างออก การใช้สเปรย์จะไม่ทิ้งกลิ่นยาติดหนังศีรษะเหมือนกับการใช้แชมพูยา

เชื้อราบนหนังศีรษะ

แพทย์จะให้ยาต่อต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) และเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) 

หรือใช้ยาใช้ภายนอกอื่น ๆ เช่น แชมพูต่อต้านเชื้อรา หรือสเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% ซึ่งซึมเข้าสู่หนังศีรษะได้เร็ว และไม่ทิ้งกลิ่นยาติดหนังศีรษะเหมือนการใช้แชมพู โดยปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะส่วนประกอบของตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

โรคสะเก็ดเงิน

ใช้แชมพูยาที่มีส่วนประกอบของน้ำมันดิน (Coal Tar) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่หาซื้อได้เอง เพื่อควบคุมอาการโรคสะเก็ดเงินได้ แต่หากใช้แล้วไม่ได้ผล อาจมีความจำเป็นต้องพบแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้แชมพูที่มีฤทธิ์แรงขึ้นหรืออาจให้ใช้ยาคอร์ติโซนเฉพาะที่

อาการแพ้

หากมีอาการคันศีรษะที่เกิดจากการแพ้ต่อสารบางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นในทันที และหากพบว่ามีอาการที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์

อาการคันหัวที่ควรพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการคันหัวมักไม่รุนแรง แต่หากมีอาการคันศีรษะอย่างต่อเนื่องที่ไม่หายไปหลังใช้รักษาด้วยตนเอง หรือมีอาการอื่น ๆ เหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

  • เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผมร่วง เจ็บ แสบ คันหัวรุนแรง มีไข้
  • คันศีรษะจนทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเวลากลางคืน และส่งผลกระทบต่อการทำงานและการเรียนหนังสือ
  • พบเห็นเหาหรือไข่เหาที่ศีรษะ
  • คันศีรษะเนื่องมาจากโรคทางผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก การติดเชื้อแบคทีเรีย เซ็บเดิร์ม

แพทย์จะตรวจดูหนังศีรษะและอาจนำตัวอย่างหนังศีรษะไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเหา แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจดูหนังศีรษะและถามประวัติอาการของผู้ป่วย จากนั้นจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการต่อไป

วิธีป้องกันอาการคันหัว

อาการคันหัวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่มีหลายวิธีที่ช่วยป้องกันได้ในเบื้องต้น เช่น

  • สระผมให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อลดความมันส่วนเกินบนหนังศีรษะ ควรสระผมด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนจนเกินไป และไม่ควรสระผมบ่อยเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงความระคายเคืองและป้องกันหนังศีรษะแห้ง
  • ไม่ควรเกาศีรษะ และควรให้หนังศีรษะมีความชุ่มชื้นด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นซึ่งบมีส่วนผสมของซิลิโคน (Silicone) และไดเมทิโคน (Dimethicone) หรือใช้ครีมนวดผมคุณภาพดีที่ช่วยดูแลหนังศีรษะและเส้นผม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนกับเส้นผมบ่อย และไม่ใช้ไดร์ หรืออุปกรณ์จัดแต่งทรงผมด้วยอุณหภูมิที่สูงจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสีย้อม น้ำหอม หรือสารเคมี ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่เป็นเหา เช่น หวี หมวก ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัว เพื่อป้องกันเหาแพร่กระจายมาสู่ตน