คันอวัยวะเพศชาย รู้จัก 8 สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

คันอวัยวะเพศชาย คืออาการคันหรือระคายเคืองบริเวณองคชาตหรือถุงอัณฑะ โดยผิวหนังบริเวณนั้นอาจแดงหรือมีผื่นขึ้นร่วมด้วย โดยอาการคันบริเวณอวัยวะเพศชายอาจมีสาเหตุมาจากโรคทางผิวหนังหรือการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง การติดเชื้อราในอวัยวะเพศชาย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคหนองใน

อาการคันบริเวณอวัยวะเพศชายอาจรักษาได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเอง หรือใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการคัน อย่างไรก็ตาม อาการคันอวัยวะเพศชายที่เกิดจากการติดเชื้อหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการคันอย่างเหมาะสม 

คันอวัยวะเพศชาย

สาเหตุของอาการคันอวัยวะเพศชาย

คันอวัยวะเพศชายเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป โดยของอาการคันอวัยวะเพศอาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น เหงื่อออกบริเวณอวัยวะเพศชายเยอะผิดปกติ ใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นเกินไป ขนคุด หรือขนเริ่มขึ้นหลังจากโกนขนบริเวณอวัยวะเพศ 

นอกจากนี้ อาการคันอวัยวะเพศชายอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น

1. โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact dermatitis)

เมื่ออวัยวะเพศชายสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง อาจส่งผลให้มีผื่นระคายสัมผัสเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศชาย โดยอาการแพ้อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น แพ้สบู่ แพ้เสื้อผ้า หรือแพ้ถุงยางอนามัย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคัน แดง แห้ง และอาจมีตุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้นบนอวัยวะเพศชาย

หากเกิดผื่นระคายสัมผัสขึ้น ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งอาจช่วยให้อาการคันอวัยวะเพศชาย รวมถึงอาการแพ้อื่น ๆ ดีขึ้น 

2. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังบนอวัยวะเพศชายอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ พันธุกรรม ความเครียด การสัมผัสสารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง โดยอาจทำให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศชายเกิดผื่นคัน บวม มีตุ่มเกิดขึ้น ผิวหนังแห้ง หนาหรืออาจลอกเป็นแผ่นสีแดง น้ำตาลหรือสีเทาได้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่หากเกาและทำให้ผิวหนังเกิดรอยแผล ผื่นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณนั้นได้ 

3. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่อาจก่อให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศชายได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ซึ่งทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และสะสมตัวอยู่บนผิวหนัง โดยโรคสะเก็ดเงินอาจก่อให้เกิดผื่นคัน แสบ และผิวลอกเป็นแผ่นหรือขุยสีแดง 

4. โรคไลเคน พลานัส (Lichen planus)

โรคไลเคน พลานัสเป็นอาการอักเสบที่อาจพบได้บริเวณเล็บ ผม ผิวหนัง รวมไปถึงอวัยวะเพศชาย โดยไลเคน พลานัสบริเวณอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คันอวัยวะเพศชาย ผื่นตุ่มนูน ผิวหนังมีสีม่วงหรือสีขาวซีดรูปวงรีบริเวณที่เกิดอาการ โดยสาเหตุของโรคอาจยังไม่แน่ชัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการต่าง ๆ อาจดีขึ้นได้เอง

5. โรคติดเชื้อราอวัยวะเพศชาย (Male thrush)

โรคติดเชื้อราที่อวัยวะเพศชายเกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา โดยมักก่อให้เกิดผื่นคัน ระคายเคือง แสบ แดงบริเวณปลายองคชาตและหนังหุ้มปลายองคชาต อวัยวะเพศชายมีกลิ่นเหม็น และมีของเหลวสีขาวคล้ายชีสสะสมอยู่ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต

6. ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ (Balanitis)

ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศชายได้ โดยสาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย การไม่รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศชาย อาการแพ้ หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณอวัยวะเพศชาย โดยอาการของปลายอวัยวะเพศชายอักเสบอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บ บวม แดง และคันอวัยวะเพศชาย บางรายอาจมีอาการปัสสาวะแล้วแสบร่วมด้วย

7. ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)

ท่อปัสสาวะอักเสบ คืออาการอักเสบของท่อที่ลำเลียงปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย โดยท่อปัสสาวะอักเสบมักมีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แสบหรือคันบริเวณปลายอวัยวะเพศชาย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด มีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ

8. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases)

อาการคันอวัยวะเพศชายอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อหรือเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยตัวอย่างของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศชาย เช่น

  • โรคโลน โลนเป็นแมลงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในขนหรือผิวหนังบริเวณเนินหัวหน่าว การติดโลนจากการมีเพศสัมพันธ์อาจก่อให้เกิดอาการคันที่อวัยวะเพศชายได้
  • โรคหิด หิดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากไร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผื่นตุ่มนูนแดงและอาการคันอย่างรุนแรง 
  • โรคหูดหงอนไก่ หูดหงอนไก่สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) โดยหูดหงอนไก่อาจก่อให้เกิดติ่งเนื้อสีน้ำตาลหรือชมพู บวม คันบริเวณอวัยวะเพศชาย โดยเฉพาะบริเวณปลายองคชาต ถุงอัณฑะ หรือรูทวาร  
  • โรคเริม เริมสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสอวัยวะเพศหรือน้ำลายของผู้ที่มีเชื้อเริม โดยเริมอาจก่อให้เกิดอาการคัน เจ็บ มีตุ่มน้ำเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศชาย และอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณขาหนีบได้
  • โรคหนองใน หนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการคันอวัยวะเพศชายและรูทวาร นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะแสบขัด ถุงอัณฑะเจ็บและบวม มีของเหลวสีเหลืองหรือขาวไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต
  • การติดเชื้อคลาไมเดีย การติดเชื้อชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีของเหลวสีใสหรือสีขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศชาย แสบและคันรอบ ๆ ปลายอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะปวดและบวม

วิธีรับมืออาการคันอวัยวะเพศชายอย่างเหมาะสม

การรักษาอาการคันอวัยวะเพศชายมักขึ้นอยู่กับสาเหตุ ดังนั้น การรู้สาเหตุของอาการคันอวัยวะเพศชายจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม การรับมืออาการคันอวัยวะเพศชายเบื้องต้นอาจช่วยบรรเทาอาการคันให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีการรับมืออาจทำได้ดังนี้ 

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศชาย โดยเฉพาะบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว
  • ประคบเย็นบริเวณที่เกิดอาการคัน การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบ คัน และระคายเคือง โดยควรห่อด้วยผ้าสะอาดก่อนประคบเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังได้รับความเย็นมากเกินไป
  • ใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป และควรเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวันเพื่อความสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองอวัยวะเพศชายหรืออาการแพ้ เช่น สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม อาจช่วยให้อาการคันดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะการเกามากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผล และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อทางผิวหนังได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีอาการคันอวัยวะเพศชายจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพราะกิจกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้อาการคันรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วแต่อาการคันอวัยวะเพศชายยังคงไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา โดยประเภทหรือชนิดของยาที่ใช้มักขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการคันอวัยวะเพศชาย เช่น

  • ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาปฏิชีวนะเหมาะสำหรับการรักษาอาการคันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง
  • ยาต้านเชื้อรา การใช้ยาต้านเชื้อราเหมาะสำหรับการรักษาการติดเชื้อรา รวมไปถึงโรคติดเชื้อราที่อวัยวะเพศชาย
  • ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน การใช้ยาชนิดนี้อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองอวัยวะเพศชายที่เกิดจากอาการแพ้ได้
  • สเตียรอยด์ชนิดครีมและไฮโดรคอร์ติโซน ยาชนิดนี้อาจช่วยลดอาการคัน แดงหรืออักเสบบริเวณอวัยวะเพศชายได้

อย่างไรก็ตาม หากอาการคันอวัยวะเพศชายยังคงไม่ดีขึ้น มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการที่อาการคันรุนแรงขึ้น และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อวัยวะเพศชายบวม มีของเหลวไหลออกจากปลายองคชาต มีตุ่มพองบนผิวหนัง รู้สึกแสบหรือเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะขณะปัสสาวะ ควรไปพบแพทย์ทันที โดยแพทย์อาจแนะนำการรักษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้อาการคันอวัยวะเพศชายดีขึ้น