การวินิจฉัยงูสวัด งูสวัด (Shingles)
การวินิจฉัยงูสวัด
หากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนก็สามารถสังเกตอาการในเบื้องต้นได้ โดยมักจะมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังพร้อมด้วยอาการปวดและแสบร้อนที่บริเวณผื่นที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของร่างกาย ร่วมกับอาการไข้ ไม่สบายเนื้อสบายตัว ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยอาการอีกครั้งหนึ่ง
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคงูสวัดได้ชัดเจนจากอาการและลักษณะทางผิวหนัง แต่หากผู้ป่วยไม่มีผื่นหรือตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนัง การวินิจฉัยจะเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากอาการของงูสวัดอาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคเริม บางครั้งก็คล้ายกับโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย และผื่นแพ้ยาอีกด้วย
อีกทั้งจะยิ่งวินิจฉัยอาการได้ยากหากโรคงูสวัดเกิดในคนที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน เพราะอาการที่แสดงออกไม่ตรงไปตรงมา ทำให้แพทย์อาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมในการวินิจฉัยด้วย เช่น
- วิธี Tzanck smears เป็นวิธีการตรวจจากรอยผื่นด้วยการเจาะตุ่มน้ำแล้วขูดเซลล์บริเวณฐานของตุ่มน้ำไปตรวจ แต่วิธีนี้จะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นงูสวัดหรือเป็นแค่เพียงการติดเชื้อเริม
- การย้อมด้วยสีฟลูออเรสเซนต์ (Direct Fluorescent Antibody) เป็นการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มไปย้อมสีเพื่อหาแอนติเจน (Antigen) หรือเชื้อไวรัส
- วิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (Polymerase Chain Reaction: PCR) เป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อ โดยวิธีนี้จะตรวจได้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ บางแห่งเท่านั้น
- การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Serologic Methods) เป็นวิธีที่แพทย์มักใช้การตรวจภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อไวรัส หากพบก็จะทำให้วินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคงูสวัด
หากแพทย์ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าเป็นงูสวัด แพทย์จะรักษาผู้ป่วยทันทีโดยไม่รอผลตรวจ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน