ฉีดสิว ทางเลือกรักษาผิวพรรณ

สิวเป็นปัญหาผิวพรรณที่ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลและขาดความมั่นใจได้ การฉีดสิวเป็นวิธีหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมและมีให้บริการตามสถานเสริมความงามหลายแห่ง เพราะช่วยรักษาสิวและปัญหาผิวพรรณอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำง่าย และค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การฉีดสิวนั้นใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ฉีดเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่เกิดสิว ซึ่งยาชนิดนี้มีข้อจำกัดในการใช้สำหรับผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคบางอย่างหรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ และอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ หากต้องการฉีดสิวจึงควรปรึกษาแพทย์และศึกษาข้อมูลโดยละเอียด ตลอดจนเรียนรู้วิธีดูแลผิวหลังเข้ารับการฉีดสิวอย่างถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาอย่างสูงสุด

ฉีดสิว

ทำไมต้องฉีดสิว 

การฉีดสเตียรอยด์สามารถนำมาใช้รักษาปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับผิวหนังหลายอย่าง เช่น แผลเป็นคีลอยด์ แผลเป็นนูน โรคสะเก็ดเงินหรือปัญหาผิวหนังอักเสบอื่น ๆ ส่วนการฉีดสเตียรอยด์สำหรับรักษาสิวนั้นจะใช้กับปัญหาสิวชนิดรุนแรงอย่างสิวซีสต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือซีสต์ขึ้นตามใบหน้า หน้าอก และหลัง มีทั้งแบบที่อักเสบและไม่อักเสบ และมักมีรอยแผลเป็นของสิวเกิดขึ้นตามมา พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ สิวซีสต์อาจเกิดขึ้นในลักษณะสิวหัวแข็งขนาดใหญ่หรือสิวหัวช้างที่ก่อให้เกิดโพรงฝีในผิวหนัง ส่งผลให้รอยแผลหนาตัว กลายเป็นสิวอุดตันขนาดใหญ่ หรือเป็นก้อนซีสต์ที่มีหนอง โดยมักเกิดกับผู้ที่มีปัญหารูขุมขนอุดตันหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด

เตรียมตัวก่อนฉีดสิวอย่างไร

ผู้ที่มีสิวซีสต์และต้องการฉีดสเตียรอยด์ควรเตรียมตัวดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดสิวหากเพิ่งหายจากอาการเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อใด ๆ ก็ตาม
  • เลี่ยงการรับวัคซีนต้านเชื้อไวรัส เช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคคางทูม วัคซีนป้องกันไข้เหลือง เป็นต้น
  • ปรึกษาแพทย์และซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดสิว รวมทั้งขอคำแนะนำเกี่ยวกับยาและอาหารเสริมที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนเข้ารับการฉีดสิว
  • หยุดใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรืออาหารเสริมที่มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือดในช่วงหลายวันก่อนเข้ารับการฉีดสิว เพื่อลดความเสี่ยงเกิดรอยช้ำหรือเลือดไหลไม่หยุด

ฉีดสิวมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

การฉีดสเตียรอยด์สำหรับรักษาปัญหาสิวมีขั้นตอนในการฉีด ดังนี้

  • แพทย์จะเตรียมยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ผสมกับน้ำเกลือธรรมดาหรือยาชาเฉพาะที่เพื่อเจือจางฤทธิ์ยาสเตียรอยด์
  • เช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะฉีดยาด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ฉีดยาเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นสิว แต่จะไม่ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพราะเสี่ยงทำให้เกิดรอยบุ๋มที่ผิว
  • แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาฉีดสิวซ้ำทุก 4-8 สัปดาห์

ดูแลตัวเองหลังฉีดสิวอย่างไร

ผู้ที่เข้ารับการฉีดสิวบางรายอาจเกิดรอยแดงหรือรู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่ฉีดยา ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลข้างเคียงจากการฉีดสิวจึงควรดูแลตัวเอง ดังนี้           

  • ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่ฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ห้ามประคบแผลด้วยถุงน้ำร้อนหรือใช้น้ำร้อนทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา
  • เฝ้าสังเกตอาการของการติดเชื้อ เช่น อาการปวด รอยแดง และบวม ที่คงอยู่นานกว่า 48 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงจากการฉีดสิวมีอะไรบ้าง

ผู้ที่เข้ารับการฉีดสเตียรอยด์สำหรับรักษาสิวเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้

  • ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นทันที
    • รู้สึกปวด มีรอยช้ำ หรือมีเลือดออก
    • มีผื่นแพ้สัมผัสขึ้นที่ผิวหนังจากการแพ้วัตถุกันเสียหรือเบนซิลแอลกอฮอล์ในยาที่ใช้ฉีด
    • เกิดรอยแผลและฝีไร้เชื้อบริเวณที่ฉีดยา
    • เกิดการติดเชื้อ
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นภายหลัง
    • ผิวหนังรอบ ๆ บริเวณที่ฉีดยาเกิดรอยบุ๋มหลังผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งอาจกลายเป็นรอยแผลเป็นถาวรได้
    • ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยาเกิดรอยด่างสีขาวหรือสีน้ำตาลเนื่องจากผิวหนังอักเสบ ซึ่งอาจลุกลามไปบริเวณรอบ ๆ โดยจะค่อย ๆ หายไปเองหรืออาจปรากฏรอยดังกล่าวอย่างถาวร
    • เกิดเส้นเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติตรงบริเวณที่ฉีดยา ซึ่งรักษาให้หายได้ด้วยการทำเลเซอร์
    • ผิวหนังบริเวณที่ฉีดสเตียรอยด์มีขนขึ้นดก
    • เกิดสิวสเตียรอยด์ขึ้นเฉพาะที่หรือกระจายไปตามส่วนอื่นของร่างกาย เนื่องจากสเตียรอยด์ไปเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมน ส่งผลให้ต่อมไขมันบริเวณนั้นผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น สิวชนิดนี้จะหายไปเมื่อหยุดฉีดสิว

ใครที่ไม่เหมาะกับการฉีดสิว

การฉีดสเตียรอยด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพบางประการได้ บุคคลต่อไปนี้ควรเลี่ยงการฉีดสิว

  • มีประวัติแพ้ยาไตรแอมซิโนโลน
  • เป็นวัณโรคหรือติดเชื้อราที่ผิวหนัง
  • เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดมีผื่นหนา ชนิดมีตุ่มหนอง หรือชนิดมีผื่นแดงและผิวลอกทั่วตัวอย่างรุนแรง
  • เป็นโรคเบาหวานชนิดควบคุมอาการไม่ได้ หัวใจวาย หรือความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง
  • เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • มีภาวะซึมเศร้าหรือวิกลจริตอย่างรุนแรง