รู้จักสาเหตุและวิธีจัดการปัญหาฉี่รดที่นอน

ฉี่รดที่นอน หรืออาการปัสสาวะโดยไม่รู้ตัวขณะนอนหลับ เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ก็มีในบางกรณีที่อาการอาจเกิดขึ้นกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ บางครั้งอาการอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งคราวและไม่ใช่สัญญาณผิดปกติใด ๆ แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ

อาการฉี่รดที่นอนเป็นอาการที่มักไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต ซึ่งโดยปกติแล้วอาการมักจะหายไปได้เองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น หรือในกรณีของผู้ใหญ่ที่การฉี่รดที่นอนเกิดขึ้นเพียง 1 หรือ 2 ครั้งในรอบหลายเดือนหรือหลายปีก็มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรงเช่นกัน 

รู้จักสาเหตุและวิธีจัดการปัญหาฉี่รดที่นอน

อย่างไรก็ตาม หากอาการฉี่รดที่นอนเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะในเด็กที่เริ่มโตแล้วหรือผู้ใหญ่ เช่น เกิดขึ้น 2–3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นใน 1 สัปดาห์ อาการฉี่รดที่นอนในกรณีนี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพที่ควรได้รับการรักษา

สาเหตุของปัญหาฉี่รดที่นอน

สาเหตุของปัญหาฉี่รดที่นอนมักแตกต่างกันไปในแต่ละคน รวมทั้งขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย เช่น

ฉี่รดที่นอนในเด็ก

สาเหตุของการฉี่รดที่นอนในเด็กที่พบได้บ่อยคือ ร่างกายของเด็กมักยังไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้ แต่ปัญหานี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงอายุ 2–4 ปี และปัญหาฉี่รดที่นอนจะหยุดลงหรือเกิดบ้างเพียงบางครั้งบางคราวเมื่อเด็กอายุเกิน 7 ปี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาฉี่รดที่นอนในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น

  • ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนที่ควบคุมการปัสสาวะและอุจจาระเป็นกล้ามเนื้อส่วนเดียวกัน การมีปัญหาท้องผูกนาน ๆ จึงอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนี้ทำงานผิดปกติไปได้
  • มีกระเพาะปัสสาวะที่เล็กผิดปกติ
  • ทางเดินปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะแคบผิดปกติ
  • ระดับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) หรือฮอร์โมนที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตปัสสาวะน้อยลงในตอนกลางคืนมีระดับต่ำผิดปกติ
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยเด็กในกลุ่มนี้จะมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น นอนกรน และง่วงซึมในเวลากลางวันบ่อย ๆ
  • เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือสีชมพู และรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • โรคสมาธิสั้น
  • ระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะเติบโตช้ากว่าวัย
  • เบาหวาน โดยเด็กในกลุ่มนี้จะมีอาการปัสสาวะครั้งละมาก ๆ หิวน้ำบ่อย อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลง

ฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่

สาเหตุของปัญหาฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่ เช่น

  • ระดับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกต่ำผิดปกติ หรือกระบวนการตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกของร่างกายผิดปกติ
  • พันธุกรรม โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเกิดปัญหาฉี่รดที่นอนมักมีโนวแน้มเกิดอาการนี้มากกว่าปกติ
  • กระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กหรือทำงานผิดปกติ
  • เบาหวาน โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะมักพบอาการปวดปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง การสะสมของอุจจาระอาจส่งผลให้เส้นประสาทส่วนที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้รับแรงดันและทำงานผิดปกติไป อีกทั้งการที่มีอุจจาระสะสมในลำไส้ยังอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเก็บน้ำปัสสาวะได้น้อยลงหรือไม่สามารถขับออกไปได้หมดขณะปัสสาวะ
  • ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน 
  • ภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด หรือความวิตกกังวล
  • โรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง พาร์กินสัน นิ่วในไต การติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ หรือภาวะต่อมลูกหมากโต
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ หรือยาต้านอาการทางจิต

วิธีรับมือกับอาการฉี่รดที่นอน

ผู้ที่มีปัญหาฉี่รดที่นอนหรือมีบุตรหลานที่มีปัญหานี้ อาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนเข้านอน 2–3 ชั่วโมง โดยให้เลือกดื่มน้ำในช่วงระหว่างวันให้เพียงพอแทน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในช่วงบ่ายของวัน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้อาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองและยิ่งส่งผลให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเข้านอนทุกคืน
  • สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกน้อยมีปัญหาฉี่รดที่นอน ควรช่วยลูกน้อยทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและก้นทุกเช้า เพื่อป้องกันการเกิดผื่น

ทั้งนี้ แม้ปัญหาฉี่รดที่นอนในเด็กจะเป็นปัญหาที่เกิดได้ทั่วไป แต่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากลูกน้อยยังมีปัญหาฉี่รดที่นอนหลังอายุ 7 ปีขึ้นไป หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฉี่รดที่นอนในตอนกลางวัน เจ็บขณะปัสสาวะ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือสีชมพู อุจจาระแข็ง นอนกรน หรือปัญหาฉี่รดที่นอนกลับมาเกิดใหม่หลังจากที่หยุดไปนาน

ส่วนในกรณีผู้ใหญ่ เนื่องจากปัญหาฉี่รดที่นอนส่วนใหญ่มักบ่งบอกถึงปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหานี้ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม เพื่อให้แพทย์ช่วยรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น