ฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่ สัญญาณสุขภาพที่ไม่ควรละเลย

การฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาสุขภาพจิตที่ซ่อนอยู่ ซึ่งผู้ที่มีอาการฉี่รดที่นอนอย่างต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่หรือในผู้สูงอายุถือว่าไม่ปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการฉี่รดที่นอนคืออาการปัสสาวะอย่างไม่รู้ตัวขณะที่กำลังนอนหลับ โดยปกติมักเกิดขึ้นกับเด็กในวัย 3–5 ปี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันในผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าปกติหากเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ภาวะต่อมลูกหมากโต ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ ความเครียด

ฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่

สาเหตุของอาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่

อาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยในชีวิตประจำวัน

อาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่อาจเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการขาดการออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้เกิดการปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ จนนำไปสู่การเผลอปัสสาวะในขณะที่นอนหลับได้

นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านอารมณ์อย่างความกลัว ความเครียด หรือความวิตกกังวล ก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ เช่น ทำให้นอนฝันร้าย และอาจทำให้เกิดอาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

2. ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะ

ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะสามารถทำให้เกิดอาการฉี่รดที่นอนได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การมีสิ่งกีดขวางในทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือนิ่วในไต รวมถึงการมีความผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะมากผิดปกติ และเกิดอาการฉี่รดที่นอนได้ง่ายนั่นเอง

3. ปัญหาเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย

อาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่อาจเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone: ADH) ในร่างกายที่มีหน้าที่ชะลอการผลิตปัสสาวะ โดยร่างกายจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้นในเวลากลางคืน แต่หากร่างกายผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยเกินไปหรือไม่สมดุล ก็อาจทำให้ปัสสาวะมีปริมาณมากผิดปกติในขณะนอนหลับ และนำไปสู่อาการฉี่รดที่นอนได้ 

4. ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอาการฉี่รดที่นอนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหรือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงผู้ที่มีความผิดปกติในระบบประสาทอย่างผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ด้วย

เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่มากผิดปกติจะส่งผลต่อปริมาณปัสสาวะ หรือส่งผลต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก หรือปัสสาวะรดที่นอนได้ ส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีเนื้องอกบริเวณทางเดินปัสสาวะ อาจส่งผลให้กลั้นปัสสาวะได้ยากในตอนกลางคืน และผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจเกิดอาการปัสสาวะรดที่นอนได้บ่อย

5. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท

การใช้ยาบางประเภทอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการฉี่รดที่นอนได้ เช่น ยานอนหลับ ยาระงับประสาท หรือยารักษาโรคจิตเวชอย่างยาโคลซาปีน (Clozapine) และยาริสเพอริโดน (Risperidone) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลให้ร่างกายมีการผลิตปัสสาวะมากขึ้น หรืออาจเพิ่มการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ จนนำไปสู่อาการฉี่รดที่นอนได้

วิธีป้องกันอาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่เบื้องต้น

ผู้ที่มีอาการฉี่รดที่นอนเกิดขึ้น อาจลองปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยรับมือหรือป้องกันอาการฉี่รดที่นอนในเบื้องต้น

  • ลดปริมาณการบริโภคของเหลวในช่วงเวลาก่อนนอน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น แต่ในเวลากลางวันควรบริโภคของเหลวโดยเฉพาะน้ำเปล่าให้มากตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ
  • ฝึกร่างกายให้ปัสสาวะเป็นเวลาและปัสสาวะบ่อย ๆ ในเวลากลางวัน รวมถึงควรปัสสาวะก่อนการนอนหลับให้เรียบร้อย เพื่อช่วยลดปริมาณของปัสสาวะในตอนกลางคืนด้วย
  • อาจมีการตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นขึ้นมาปัสสาวะอีกครั้งในตอนกลางคืน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการฉี่รดที่นอน
  • ออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและกระเพาะปัสสาวะ เพราะอาจช่วยให้ร่างกายควบคุมการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น
  • จัดการความเครียดและความกังวลที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถนอนหลับสนิท ไม่ฝันร้าย และช่วยลดความเสี่ยงในการฉี่รดที่นอน
  • ในผู้ที่มีอาการฉี่รดที่นอนบ่อยครั้ง อาจใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในขณะนอนหลับและใช้ผ้ารองกันเปื้อนปูทับเครื่องนอนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องนอนปนเปื้อนปัสสาวะ และยากต่อการทำความสะอาด

หลายคนอาจมองว่าอาการฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องน่าอาย และเกิดความกังวลในการไปพบแพทย์ แต่การไปพบแพทย์จะช่วยให้คุณสามารถทราบสาเหตุของอาการฉี่รดที่นอนที่เกิดขึ้น ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด และช่วยให้อาการฉี่รดที่นอนหายหรือดีขึ้นได้ ดังนั้น หากผู้ใหญ่หรือผู้สูงมีอาการฉี่รดที่นอนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์