ชวนรู้จัก 10 ยาโรคหัวใจ และวิธีใช้ให้ปลอดภัยต่อร่างกาย

ยาโรคหัวใจเป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคหัวใจที่แพทย์มักแนะนำให้แก่ผู้ป่วยร่วมกับการดูแลตัวเองและการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจนั้นมีหลายชนิด การเรียนรู้ยาที่กำลังใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากยาอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงมากขึ้น  

โรคหัวใจนั้นหมายถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดกับส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น หลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ รวมถึงการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะพิจารณายารักษาที่ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความผิดปกติของหัวใจของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแพทย์อาจให้ใช้ยาโรคหัวใจเพียงชนิดเดียว หรืออาจให้ใช้ยาหลายชนิดร่วมกันก็ได้  

ชวนรู้จัก 10 ยาโรคหัวใจ และวิธีใช้ให้ปลอดภัยต่อร่างกาย

 รวมยาโรคหัวใจที่ควรรู้

ปัจจุบัน ยาโรคหัวใจมีหลายชนิดและแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มยา และแต่ละชนิดก็มีรูปแบบยาและวิธีใช้ยาที่ต่างกัน โดยตัวอย่างกลุ่มยาโรคหัวใจที่แพทย์มักแนะนำให้ใช้จะมีดังนี้ 

1. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการแข็งตัวของลิ่มเลือด ป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด และลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรงอื่น ๆ จากการอุดตันของลิ่มเลือดในหัวใจ ปอด หรือสมอง เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด โรคหลอดเลือดสมอง   

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาเฮพาริน (Heparin) ยาดาบิกาทราน (Dabigatran) ยาเอพิซาแบน (Apixaban) ยาอีด็อกซาแบน (Edoxaban) หรือยาอีน็อกซาพาริน (Enoxaparin) 

2. ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets)

ยาต้านเกล็ดเลือดช่วยป้องกันการแข็งตัวของลิ่มเลือดด้วยการออกฤทธิ์ลดการสร้างสารทรอมบอกเซน (Thromboxane) ที่ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันจนก่อเกิดเป็นลิ่มเลือด แพทย์ยังสั่งจ่ายยากลุ่มนี้ป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina) โรคหลอดเลือดสมองบางชนิด รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ในอนาคตด้วย 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เคี้ยวยาหรืออมยาไว้ใต้ลิ้นในกรณีเกิดหัวใจขาดเลือด ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยาทิคาเกรลอล (Ticagrelor) 

3. ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates)

ไนเตรทเป็นกลุ่มยาที่ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์มักพิจารณายากลุ่มนี้ให้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจวาย ภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคความดันโลหิตสูง 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) ชนิดอมใต้ลิ้นในกรณีเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ยาไอโซซอร์ไบด์โมโนไนเตรต (Isosorbide Mononitrate) และยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide Dinitrate) 

4. ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor)

ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์มักใช้รักษาหรือป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะหัวใจขาดเลือด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการผลิตฮอร์โมนแองจีโอเทนซิน (Angiotensin) ที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันภายในหลอดเลือดลดลง และเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาอีนาลาพริล (Enalapril) ยาลิซิโนพริล (Lisinopril ) ยาบีนาซีพริล (Benazepril)  ยารามิพริล (Ramipril) หรือยาแคปโตพริล (Captopril)

5. ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers: ARBs)

ยา ARBs เป็นยาบรรเทาอาการจากโรคความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจวาย โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแองจีโอเทนซิน ทำให้หลอดเลือดขยายและระดับความดันโลหิตลดลงได้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาลอซาร์แทน (Losartan) ยาแคนดีซาร์แทน (Candesartan) ยาโอลมีซาร์แทน (Olmesartan) ยาอาซิลซาร์แทน (Azilsartan) ยาเทลมิซาร์แทน (Telmisartan) หรือยาวาลซาร์แทน (Valsartan)

6. ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) 

ยากลุ่มนี้ถูกใช้ในการรักษาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจหลายชนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย อาการเจ็บหน้าอก หรือหัวใจเต้นผิดปกติ โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่กระตุ้นหัวใจอย่างอิพิเนฟริน (Epinephrine) ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตให้ต่ำลง

ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหอบหืดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์ และควรใช้ยาอย่างระมัดระวังตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาอาจทำให้หลอดลมตีบแคบได้ 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาอะทีโนลอล (Atenolol) ยาไบโซโปรลอล (Bisoprolol) ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) หรือยาโพรพราโนลอล (Propranolol) 

7. ยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers)

ยาต้านแคลเซียมจะเข้าไปควบคุมปริมาณแคลเซียมที่เข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดให้น้อยลง ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดน้อยลง หลอดเลือดคลายตัว และการลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น โดยใช้รักษาภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดและโรคความดันโลหิตสูง ยานี้มักใช้เมื่อยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผล   

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine)ยาฟิโลดิปีน (Felodipine) ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) หรือยาเวอราปามิล (Verapamil)

8. ยาขับปัสสาวะ

ยาขับปัสสาวะนั้นช่วยลดความดันโลหิต และขับโซเดียมและของเหลวส่วนเกินออกจากเนื้อเยื่อและกระแสเลือดผ่านทางปัสสาวะ ทำให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง ลดการสะสมของเหลวในปอดและอวัยวะส่วนอื่น แพทย์จึงอาจนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวายอันเป็นต้นเหตุของการคั่งน้ำในร่างกาย 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยาไฮโดรโคลโรไธอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาโคลโรไธอะไซด์ (Chlorothiazide) ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ยาบูเมทาไนด์ (Bumetanide) ยาสไปโรโนแลคโทน (Spironolactone) หรือยาอามิโลไรด์ (Amiloride) 

9. ยาดิจิทาลิส (Digitalis)

ยาดิจิทาลิสมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเซลล์หัวใจ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่นมากขึ้น อีกทั้งยังออกฤทธิ์ชะลอการส่งกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจ ช่วยให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ จึงอาจนำมาใช้ในผู้ป่วยภาวะหัวใจวายและภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็คือ ยาไดจอกซิน (Digoxin) ซึ่งมักถูกนำมาใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะและยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ตามดุลยพินิจของแพทย์

10. ยาลดคอเลสเตอรอล

การมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจส่งผลให้หลอดเลือดอุดตันหรือตีบแคบจากการที่ไขมันจับตัวเป็นคราบตะกรันหรือพลัค (Plaque) อันเป็นต้นเหตุของปัญหาหัวใจที่รุนแรงอย่างภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง 

แพทย์จึงอาจจ่ายยาลดคอเลสเตอรอลให้กับผู้ป่วย เพื่อลดระดับลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) และช่วยเพิ่มระดับคลอเรสเตอรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของคราบพลัคและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็เช่น ยากลุ่มสแตติน (Statin) อย่างยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) หรือยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ไนอะซิน (Niacin) ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) หรือยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe)

ข้อควรระวังจากยาโรคหัวใจ

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาโรคหัวใจได้อย่างปลอดภัยคือ การใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดทั้งระยะเวลาและปริมาณยาที่ใช้ โดยผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนเสมอ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา 

ในระหว่างการใช้ยาโรคหัวใจบางชนิด ผู้ป่วยอาจต้องคอยวัดระดับความดันโลหิตด้วยตัวเองเป็นประจำ ซึ่งหากความดันโลหิตยังอยู่ในระดับต่ำหรือยังคงสูงเช่นเดิมแม้ใช้ยาไปแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับแผนการรักษาเพิ่มเติม

ยาโรคหัวใจทุกชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองหลังใช้ยาอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ไม่ควรหยุดใช้ยาโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์ สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ สงสัยว่าตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และเด็กได้

แม้ยาโรคหัวใจจะถูกนำมาใช้รักษาโรคเดียวกัน แต่ยาแต่ละชนิดก็มีกลไกการทำงานที่อาจต่างกันอยู่ไม่น้อย ผู้ป่วยแต่ละคนจึงจะได้ใช้ยาที่ต่างกันไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกตัวยาที่เหมาะกับอาการของผู้ป่วยมากที่สุด เพราะนอกจากหายจากโรค ป้องกันโรค หรือควบคุมโรคได้แล้ว ความปลอดภัยก็จำเป็นเช่นกัน