ชวนสังเกตอาการลองโควิดและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อาการลองโควิดหรืออาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่หายจากโรคโควิดอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น ไอแห้งเรื้อรัง ไม่ได้กลิ่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก คิดหรือตัดสินใจได้ช้าลง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ทั้งนี้ อาการลองโควิดบางอย่างก็ไม่ควรที่จะละเลยเพราะอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้นได้ จึงควรสังเกตตัวเองและหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการลองโควิดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่มีอาการของโรคโควิดรุนแรงและไม่รุนแรง แต่ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้เชื้อไวรัสส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายได้มากกว่าคนทั่วไป และนำไปสู่การเกิดอาการลองโควิดตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคอ้วน โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ หรือผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดด้วย

อาการลองโควิด

อาการลองโควิดเบื้องต้นที่ควรรู้

เมื่อหายจากโรคโควิดแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายที่มีผลมาจากอาการของโรคโควิดตามมา หรือที่เรียกว่าอาการลองโควิดนั่นเอง ซึ่งอาการลองโควิดอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนหลังจากหายจากโรคโควิดเลยทีเดียว โดยสามารถปรากฎอาการได้หลายอย่าง ดังนี้

อาการลองโควิดทั่วไป

อาการลองโควิดทั่วไปสามารถพบได้ในผู้ป่วยหลายคน โดยมักจะมีอาการที่ไม่รุนแรง และสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย ตัวอย่างอาการลองโควิดทั่วไป เช่น

  • มีไข้
  • เจ็บคอ 
  • ปวดศีรษะ
  • สูญเสียการรับรสหรือสูญเสียการรับกลิ่น 
  • เหนื่อยง่ายแม้ในตอนที่อยู่เฉย ๆ รู้สึกเหนื่อยมากเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกแรงมาก เช่น เดินขึ้นบันได ออกกำลังกาย เล่นกีฬา

อาการในระบบทางเดินหายใจ

อาการลองโควิดที่สามารถพบได้มากคืออาการในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบทางเดินหายใจอย่างปอด ทั้งนี้ ในบางกรณีสามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ และอาจทำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์เลยทีเดียว ตัวอย่างอาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น

  • มีอาการหอบ
  • หายใจตื้น หายใจถี่
  • รู้สึกหายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก 
  • มีอาการไอ โดยอาจมีลักษณะไอแห้ง 

อาการในระบบย่อยอาหาร

อาการลองโควิดสามารถแสดงออกมาในรูปแบบของอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารเช่นกัน โดยมักปรากฎอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง ไม่สบายท้อง
  • รู้สึกเบื่ออาหาร หรือไม่อยากรับประทานอาหาร

อาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

อาการลองโควิดอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ และสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจไม่ควรปล่อยปละละเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ตัวอย่างอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น

อาการทางระบบประสาทและสมอง

อาการทางระบบประสาทและสมอง หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับการคิด วิเคราะห์ สามารถเกิดขึ้นได้ในที่ที่มีภาวะลองโควิดเช่นกัน โดยมักปรากฎอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • สมองช้า ไม่มีสมาธิ คิด วิเคราะห์ หรือตัดสินใจอะไรได้ช้าลง อาจเรียกว่าภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome)
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมเมื่อลุกขึ้นยืน
  • มีอาการเหน็บชา หรือรู้สึกเสียวแปลบตามร่างกาย

อาการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต 

เมื่อติดเชื้อโควิด อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลต่อสุขภาพของตัวเองหรือคนในครอบครัว รวมถึงอาจเกิดความวิตกกังวลจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดที่รุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างการว่างงาน การขาดการติดต่อพบปะผู้คน และส่งผลให้เกิดอาการลองโควิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตตามมาได้ 

ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลยเพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสุขภาพจิตที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าได้ ตัวอย่างอาการทางสุขภาพจิตที่สามารถพบได้บ่อย เช่น

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดเนื้อเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีผื่นขึ้นตามตัว มีการเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือน หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดก็ได้เช่นกัน

วิธีรับมือกับอาการลองโควิดที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และมีประสิทธิภาพ

หากมีอาการลองโควิดที่ไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการเหล่านี้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรืออาจช่วยให้หายจากอาการลองโควิดได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น

  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอตามปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยควรรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่อย่างครบถ้วนตามปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
  • รับประทานยาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการลองโควิดทั่วไป เช่น ยาแก้ไอ หรือยาแก้ปวดศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป
  • หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • เคลื่อนไหวช้า ๆ เวลาเปลี่ยนท่าหรือลุกขึ้นยืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ  
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ควรหักโหมจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย หรือหายใจลำบาก โดยอาจลองออกกำลังกายในท่านอนก็ได้เช่นกัน
  • ฝึกการสูดหายใจเข้าทางจมูกยาว ๆ อย่างคงที่ หลีกเลี่ยงการหายใจทีละสั้น ๆ หรือการหายใจตื้น
  • ฝึกการดมกลิ่นหรือการรับรสชาติอาการ เพื่อให้สามารถรับรู้กลิ่นและรสชาติต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม
  • ปรึกษาแพทย์หากมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ไม่ปกติ เช่น รู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว หดหู่ วิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการลองโควิดอย่างรุนแรงและยาวนานจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรไปพบแพทย์เมื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการผิดปกติที่รุนแรงเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่ออก สับสน ไม่รู้สึกตัว มีอาการชัก หรือมีสัญญาณของการขาดออกซิเจน คือการที่ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บมีสีเขียวอมม่วง ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน