ชาไทยคือเครื่องดื่มสูตรดั้งเดิมของไทย ที่มีชา นม และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก และอาจมีส่วนประกอบของเครื่องเทศและสมุนไพรอีกด้วย ซึ่งนอกจากชาไทยจะมีกลิ่นหอมและรสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แล้ว ชาไทยยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย โดยบทความนี้จะเล่าถึงประโยชน์ของชาไทย และข้อควรรู้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบดื่มชาไทย
ชาไทยนิยมชงโดยใส่นมข้นหวานหรือน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวานมัน ทำให้ชาไทย 1 แก้ว (ประมาณ 200 มิลลิลิตร) ให้พลังงานสูงถึง 430 แคลอรี มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตประมาณ 70 กรัม ไขมัน 15 กรัม และน้ำตาลสูงถึงประมาณ 50 กรัม จึงควรดื่มชาไทยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย
ประโยชน์ของชาไทย
ประโยชน์หลายประการของชาไทยมากจากสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่า สารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งทำงานในการลดหรือยับยั้งการเกิดภาวะ Oxidative stress หรือภาวะที่มีสารอนุมูลอิสระมากเกินไปจนขาดสมดุล ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคและอาการป่วยต่าง ๆ มากมาย
และนอกจากสารโพลีฟีนอลแล้ว ชาไทยยังมีประโยชน์จากสารอาหารอื่น ๆ ด้วย
ประโยชน์ของชาไทยที่มีต่อร่างกาย มีดังนี้
1. อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและร่างกาย
เนื่องจากชาไทยมีส่วนประกอบของคาเฟอีน จึงอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้ทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งทำให้จิตใจแจ่มใส ทั้งนี้ปริมาณคาเฟอีนในชาไทยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ชา กระบวนการผลิต และวิธีการชงชา แต่ผู้ดื่มไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งอาจเทียบได้กับชาไทยประมาณไม่เกิน 5 แก้ว (200 มิลลิลิตรต่อแก้ว)
นอกจากนี้ ควรระมัดระวังปริมาณคาเฟอีนที่บริโภคจากเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง
2. อาจช่วยปกป้องหัวใจ
สารโพลีฟีนอลในชาไทย ส่งผลช่วยลดการอักเสบของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เกิดจากภาวะ Oxidative stress ได้ นอกจากนี้ โพลีฟีนอลยังมีส่วนช่วยลดความดันเลือดและระดับคอลเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
3. อาจช่วยคุมน้ำหนัก
โรคอ้วนเป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากภาวะ Oxidative stress การดื่มชาไทยที่ช่วยลดการเกิดภาวะดังกล่าวจึงอาจสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ อีกทั้งโพลีฟีนอลในชาไทยยังมีส่วนช่วยในการดูดซึมไขมันและน้ำตาลเชิงซ้อน ทำให้ร่างกายลดการรับแคลอรีได้ การดื่มชาไทยในปริมาณที่เหมาะสมและใส่น้ำตาลน้อย จึงอาจช่วยคุมน้ำหนักได้
4. อาจช่วยบำรุงสมอง
เซลล์สมองก็สามารถถูกทำลายโดยภาวะ Oxidative stress ได้เช่นกัน ดังนั้น ชาไทยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจึงอาจช่วยลดการเกิดความเสียหายต่อสมอง และยังส่งเสริมกระบวนการล้างสารพิษอย่างโลหะหนักในร่างกายอีกด้วย ทำให้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ได้
นอกจากนี้ ในชาไทยยังมีกรดอะมิโนแทนนิน ที่ช่วยเพิ่มระดับของกาบา โดปามีน และเซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ป้องกันระบบประสาทจากความเครียด และอาจรวมถึงการช่วยพัฒนาการเรียนรู้และการจดจำของสมองอีกด้วย
5. อาจช่วยต่อต้านไวรัส และกำจัดแบคทีเรีย
ชาไทยมีส่วนประกอบของโป๊ยกั๊ก ซึ่งมีกรดชิคิมิก(Shikimic acid) ที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีคุณสมบัติต้านไวรัส นอกจากนี้ ชาไทยยังมีส่วนประกอบของกระวาน ซึ่งมีสารที่อาจสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการบวม และช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันได้
ข้อควรรู้ก่อนดื่มชาไทย
แม้ชาไทยจะมีรสชาติอร่อยถูกปากและมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากดื่มชาไทยในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ทั้งนี้ มีข้อมูลประการที่ผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชาไทยควรทราบก่อนดื่ม เช่น
- ชาไทยส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง ผู้ดื่มอาจเลือกดื่มชาไทยสูตรหวานน้อยที่ใส่น้ำตาลไม่เกิน 2 ช้อนชา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งควรระวังปริมาณน้ำตาลที่บริโภคเป็นพิเศษ
- คาเฟอีนในชาไทยอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปัสสาวะบ่อย หัวใจเต้นเร็ว และอาการสั่น ผู้ดื่มควรระวังการดื่มชาไทยเข้มที่มีคาเฟอีนสูง และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่ควรดื่มชาไทย
- การดื่มชาไทยขณะท้องว่างหรือก่อนอาหารอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ และอาเจียนได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารแทนนินที่อยู่ในใบชา
- ในชาไทยส่วนมากมีการใช้สีผสมอาหารให้เป็นสีโทนส้ม ผู้ดื่มอาจเสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งจากสีผสมอาหารสังเคราะห์บางชนิดที่อาจมีอยู่ในชาไทย เนื่องจากมีส่วนผสมปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง ผู้ชื่นชอบชาไทยจึงควรเช็กให้มั่นใจว่าชาไทยที่ดื่มนั้นใช้สีจากธรรมชาติ หรือใช้สีผสมอาหารที่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพแล้ว
ชาไทยอาจมีทั้งคุณประโยชน์และข้อควรรู้ที่ผู้ดื่มควรระวัง ผู้ชื่นชอบชาไทยไม่ควรดื่มชาไทยที่มีรสหวานจัด อีกทั้งควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี